Temple Grandin

ไม่ได้เขียนบล็อกมาเนิ่นนาน กว่าจะตั้งต้นเขียนได้ ต้องเตาะสนิมกันสักพักเลย 555 

พอดีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีคาบเรียนเรื่อง Autism Spectrum Disorder ซึ่งมีการเปิดบางส่วนของหนังเรื่อง " Temple Grandin " มาให้ดู พอเรียนเสร็จปุ้ป รู้สึกอยากดูขึ้นมาตงิด ๆ จึงตัดสินใจหาหนังเรื่องนี้มาดู 

Temple Grandin เป็นชื่อของสาวน้อยคนหนึ่งที่เกิดมาไม่พูดไม่จาจนกระทั่งอายุได้ 4 ขวบ จนแม่เริ่มกังวลว่าลูกจะพูดเป็นหรือไม่ ท้ายสุด หมอฟันธงว่าเธอเป็น Autism หรือที่เราเรียกแบบไทยๆ ว่า ออทิสติก และวิธีที่ดีที่สุดคือส่งไปรักษาที่สถาบัน แต่แม่ของเธอเชื่อว่าการดูแลลูกตัวเองอย่างใกล้ชิดเป็นเรื่องสำคัญ เธอจึงจัดการกับลูกออทิสติกด้วยตัวเอง..

เรื่องราวเล่าถึงพัฒนาการของ เทมเปิล ซึ่งมีตัวตนในชีวิตจริง ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวฟันฝ่าสังคมมนุษย์ที่เรียกตัวเองว่าปกติมาอย่างสาหัสสากรรจ์ ด้วยพรสวรรค์ที่คนธรรมดาทั่วไปไม่เคยมี นั่นคือ เธอมองอะไรเหมือนกล้องบันทึกภาพ ทุกอย่างถูกจดจำได้ในชั่วเสี้ยววินาที แล้วความคิดของเธอจะต่อยอดให้กับมันราวกับคอมพิวเตอร์

ยังโชคดีที่มีป้าซึ่งเห็นพรสวรรค์นี้ รวมไปถึงครูสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนประจำที่เทมเปิลไปอยู่ ได้เปิดโลกใหม่ให้กับเธอ วิเคราะห์สร้างสรรค์ผลงานทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์อย่างอิสระ แต่ท้ายสุดเธอกลับมาหลงไหลชีวิตคาวบอยเลี้ยงวัวในฟาร์มของป้า เพราะอะไรหรือ? นั่นเพราะเธอมีสัญชาตญาณที่ sensitive (จากการเป็นออทิสติก)ในการสัมผัสความรู้สึกนึกคิดของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง 

และนั่นคือแรงผลักดันที่ทำให้เธอศึกษาด้านสัตวศาสตร์อย่างทุ่มเท ด้วยแนวทางที่ครีเอทีฟเหนือชั้นไม่เหมือนใครจากพรสวรรค์ของออทิสซึ่มนี่แหละ ประทับใจกับคอนเซปต์ของเธอที่ว่า เราเลี้ยงสัตว์พวกนี้ไว้กิน เราเป็นหนี้มันอยู่ ฉะนั้นควรจะ respect มันและปฏิบัติต่อสัตว์เหล่านั้นอย่างมีจริยธรรมจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

ถูกผมสปอยหมดแล้วหล่ะซิ 5555 แต่ควรจะหามาดูกันนะครับ เพราะนอกจากเรื่องความบันเทิง รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจแล้ว กลุ่มอาชีพอย่างเราก็จะได้ฝึกสังเกตุกลุ่มอาการบางอย่างที่ผิดปกติ ที่เราควรจะต้องนึกถึงกลุ่มโรคนี้ด้วย

Autism Spectrum Disorder 

เป็นกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยจะมีความบกพร่อง 3 ด้านหลัก ๆ คือ 
1.มีความบกพร่องเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยมักจะมีพฤติกรรมเล่นคนเดียว ไม่มองสบตา เรียกชื่อไม่หัน ไม่มีความสนใจกับบุคคลอื่น( joint attention ) ไม่มี Stranger and Separation anxiety 
2.มีความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร พัฒนาการด้านการพูดที่ล่าช้า พูดเป็นภาษาที่ฟังไม่เข้าใจ พูดเลียนคำลงท้ายของคู่สนทนา ( Echolalia ) นอกจาก Verbal ที่มีปัญหาแล้ว Non-Verbal ก็เช่นกัน มักจะไม่มีการแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าท่าทาง ไม่ชี้ขอวที่ต้องการ แต่จะใช้วิธีการจูงมือผู้ปกครอง พาเดินไปยังสิ่งของที่ตนต้องการ 
3.มีพฤติกรรมหรือความสนใจที่จำกัด และมีกิจกรรมที่เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ เช่น ถ้าสนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะจับจ้องหรือหมกมุ่นแต่สิ่งนั้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นของที่หมุนได้ เช่นถ้าเล่นรถของเล่น ก็จะสนใจเฉพาะบริเวณล้ออย่างเดียว หรือการรับประทานอาหาร ต้องกินอาหารแบบเดิม ๆ ทำกิจวัตรประจำวันแบบเดิม ๆ ถ้าผู้ปกครองไปปรับเปลี่ยนก็จะมีอาการหงุดหงิด แต่ถ้าผู้ปกครองให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนเรื่องที่ผู้ป่วยสนใจ ผู้ป่วยจะทำได้ดีมาก เนื่องจากความหมกมุ่นและสนใจแต่สิ่งนั้นอย่างเต็มที่ ( Savant skills) ดังนั้นถ้าเราให้การรักษาและช่วยเหลือทัน ผู้ป่วยก็มีความเป็นอัจฉริยะในด้านที่เขาสนใจ

สาเหตุ 

ปัจจุบันมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า Autistic เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่ง ซึ่งจะสัมพันธ์กับปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ( สารเคมี , การติดเชื้อ ) รวมถึงสัมพันธ์กับกลุ่มโรคบางอย่าง เช่น Fragile X Syndrome , Tuberous sclerosis 

ดังนั้นถ้าเป็นแพทย์ที่ต้องให้คำแนะนำพ่อแม่ ควรจะให้พ่อแม่เข้าใจถึงสาเหตุ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกผิด

การวินิจฉัยแยกโรค 

อย่างไรก็ตามแต่ ถ้าพบผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ อย่างเพิ่งรีบให้การวินิจฉัย ควรต้องหาสาเหตุอย่างอื่นด้วย 
1.Intellectual disability ภาวะปัญญาอ่อน ต่างจาก Autistic ตรงที่ถ้าเป็นไม่มาก ทักษะด้านสังคมจะยังดีอยู่ และไม่ได้มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เหมือนใน Autistic
2.Hearing problem อย่างลืมส่งตรวจการได้ยินก่อนนะ !!!
3.Communication disorder กลุ่มนี้จะมีปัญหาทักษะและพัฒนาการด้านการพูดเท่านั้น แต่non-verbal ยังทำได้ดีอยู่
4.Reactive attachment disorder เกิดจากการปล่อยปละละเลยในการให้การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง แพทย์จึงจำเป็นต้องประเมินด้านการเลี้ยงดูและความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง ตัวที่จะบอกใบ้ได้บ้าง ก็เรื่องประวัติวัคซีน ประวัติโภชนาการ เด็กกลุ่มนี้ เมื่อได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีก็จะกลับมาเป็นปกติครับ 

แนวทางการรักษา 

1.ช่วยเหลือทางด้านจิตใจพ่อแม่ และ ให้คำแนะนำการวางแผนครอบครัว : โดยเราต้องให้ความรู้เกี่ยวกับโรค สาเหตุ แนวทางการรักษา และวางแผนครอบครัว เนื่องจาก Autistic มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถสรุปความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แต่มีการศึกษาความเสี่ยงที่จะเกิดกับครรภ์ถัดไป สูงถึง 3-8% ซึ่งสูงกว่าประชากรโดยทั่วไปถึง 20 เท่า เพราะฉะนั้น ควรจะมีการวางแผนรองรับถึงปัญหา รวมถึงการเตรียมของพ่อแม่ในการเลี้ยงดู

2.การกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่เบื้องต้น : ฝึกทักษะทางสังคม , ฝึกทักษะการสื่อสารและการพูด 

3.ให้การช่วยเหลือด้านการศึกษา : individual education plan

4.การใช้ยา : ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง แต่ช่วยบรรเทาอาการบางอย่างในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่น Methylphenidate กรณีที่ซน อยู่ไม่นิ่ง , Risperidone มีอาการหงุดหงิดก้าวร้าว , SSRI ลดความวิตกกังวล รวมถึงพฤติกรรมซ้ำ ๆ 

ผมว่าเหนือสิ่งอื่นใด การที่เราสังเกตุพฤติกรรมของเด็กในคลินิก well baby หรือมาตรวจด้วยอาการอย่างอื่น ควรต้องสอดส่องเรื่องนี้ด้วย เพราะยิ่งเราให้ความช่วยเหลือได้ไว พยากรณ์โรคก็จะดีขึ้น ไม่แน่ว่าประเทศเราอาจมีอัจฉริยะแบบTemple Grandin ก็เป็นได้ 


ขอบคุณ คาบเลคเชอร์ดี ๆ ของอาจารย์วิฐารณ บุญสิทธิ ครับ 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

Sedation in Pediatrics