I message VS U message


ในบทความที่ผ่านมา ผมมักจะเขียนถึง I message อยู่บ่อยครั้ง ว่าเป็นเทคนิคการสื่อสารที่ดี โดยเฉพาะกับเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากคำพูดจะน่าฟังมากขึ้น ส่งผลต่อความรู้สึกเชิงบวกมากกว่า อยากที่จะปฏิบัติตามมากกว่า

I message คือ การบอกถึงความต้องการหรือความรู้สึกของผู้พูดแทนการใช้อารมณ์หรือคำสั่ง

ต่างจาก U message (เป็นประโยคที่ในชีวิตประจำวัน ได้ยินอยู่ตลอดเวลา) คือ ประโยคที่บอกว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรผิด หรือมีพฤติกรรมอะไรที่ไม่ดี ฟังแล้วเป็นการว่ากล่าวหรือสั่ง มากกว่าพูดเพื่อที่จะให้แก้ไข ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเชิงลบต่อผู้ที่ฟังประโยคนั้น เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า สูญเสียความมั่นใจ บางคนต่อต้านรุนแรง บางคนดื้อเงียบ  และไม่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว



ผมขออนุญาต ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจ 2 ประโยคนี้ได้ แล้วลองพิจารณากันว่า แบบไหนน่าจะดีกว่ากัน

วิน หายไปไหนมา แม่โทรหา ทำไมไม่รับสาย ไปทำอะไร --- U message วินได้ฟังประโยคนี้ น่าจะรู้สึกรำคาญ มากกว่าจะรับรู้ความเป็นห่วงของแม่

แม่เป็นห่วงวินมากนะ ที่ติดต่อวินไม่ได้ ไหนเล่าให้แม่ฟังซิ เกิดอะไรขึ้นบ้าง --- I message ที่สะท้อนความรู้สึกออกมา จะทำให้ลูกรับรู้ถึงความเป็นห่วงของพ่อแม่ รู้สึกผิด และน่าจะพยายามปรับตัวให้ดีขึ้น



มด หยุดเล่นเกมได้แล้ว นี่มันดึกแล้ว เข้านอนเดี๋ยวนี้ ---- U message ถ้าเราเป็นมด ก็คงขอต่อรอง หรือ เถียงว่ายังไม่ดึกเลย ง่วงแล้วเดี๋ยวไปนอนเอง เด็กบางคนอาจจะอาละวาด งอแง

แม่อยากให้มดเข้านอนนะ พรุ่งนี้ต้องตื่นไปโรงเรียนแต่เช้า --- I message ที่บอกถึงความต้องการของเรา ลูกอาจจะมีต่อลองบ้าง แต่มดก็เข้าใจถึงความรู้สึกเป็นห่วงของแม่มากขึ้น



ทำไมพูดจาไม่ดีแบบนี้--- U message เป็นการกล่าวโทษอย่างชัดเจน ลูกจะยิ่งมีอารมณ์ตอบโต้มากขึ้น

แม่รู้สึกเสียใจที่ได้ยินลูกพูดแบบนี้ --- I message ถ้าลูกคนไหนได้ยินประโยคนี้ ต้องจุกแน่นอน แล้วอารมณ์ก็จะค่อย ๆเบาลง



ทำไมไม่ตั้งใจเรียน อยากเป็นขอทานหรือไง --- U message เป็นการดุว่าลูก เด็กยิ่งรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง หมดความพยายาม ซึ่งเป็นบ่อเกิดของ fix mindset

แม่อยากให้ลูกตั้งใจเรียนมากกว่านี้ เพื่ออนาคตที่ดีนะ --- I message จุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือ อยากให้ลูกตั้งใจเรียน  แต่ประโยคหลัง เป็นประโยคที่ให้ความรู้สึกเชิงบวก ที่เด็กคิดว่าสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้





ไหนบอกว่าจะกินยาตรงเวลา --- U message

แม่อยากให้หนูกินยาให้ตรงเวลามากขึ้น ---I message

ถ้าเราเป็นลูก เราจะปรับตัวกินยาให้ตรงเวลามากขึ้น เมื่อฟังประโยคไหนครับ



ทำไมต้องโกหกแม่ ทำผิดทำไมไม่ยอมรับผิด --- U message เป็นการดุว่าโดยตรง ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการแก้ปัญหา หรือการลดพฤติกรรมการโกหกเลย

ทำไมแม่ถึงไม่รู้เรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรต่อไปดีจ๊ะลูก--- I message บอกถึงความรู้สึกของเรา และมองหาวิธีทางแก้ปัญหา



แม่บอกไม่รู้กี่หนแล้ว ว่าตื่นมาต้องพับผ้าห่ม --- U message เด็กอาจจะทำ เพราะว่าตัดรำคาญ แต่จะทำให้เฉพาะตอนนั้น

แม่อยากให้ลูกพับผ้าห่มหลังตื่นนอนตอนเช้า --- I message



มัวแต่ชักช้าอยู่นั่นแหล่ะ เดี๋ยวไปโรงเรียนสายกันพอดี--- U message

แม่กลัวลูกจะไปโรงเรียนสาย เรารีบกันหน่อยดีไหมลูก--- I message



เพื่อนแบบนี้คบไปได้อย่างไร ทำไมไม่ใช้สมองคิดบ้าง --- U message

แม่เป็นห่วงที่หนูคบกับเพื่อนกลุ่มนี้ หนูคิดว่าเขามีอะไรน่าเป็นห่วงไหมลูก--- I message



เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ทำไมถึงทำไม่ได้--- U message

ใคร ๆ เขาก็ทำได้กันทั้งนั้น --- They message กล่างถึงบุคคลที่ 3 ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร และให้ผลลัพธ์ในเชิงลบเช่นกัน เพราะไปเปรียบเทียบกันบุคคลอื่น

แม่อยากให้ลูกลองพยายามทำอีกครั้งนะ” --- I message



ลูกเป็นพี่ที่ใช้ไม่ได้เลยนะ --- U message

แม่ไม่ชอบให้ทะเลาะกัน เป็นพี่น้องต้องรักกัน --- I message เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีระยะยาว



ต้องยอมรับว่า เราใช้ U message ตลอดเวลาในสังคมไทย ทำให้การสื่อสารล้มเหลว ซึ่งการปรับเป็น I message แค่พูดความรู้สึก หรือ สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น ทำไม่ยาก แต่ที่ยากคือ การมีสติที่จะปรับคำพูด ดังนั้น เมื่อพ่อแม่เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิดหรือโกรธ สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ แล้วบอกถึงความรู้สึกของเรา หรือ ความต้องการของเราตรง ๆ ดีกว่าจะไปดุว่า ว่า ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้น  เราอาจจะเริ่มวิธีง่าย ๆ ก่อน เช่น

พ่อ/แม่ อยาก .......
พ่อ/แม่ รู้สึก ........
พ่อ/แม่ เป็นห่วง .......

ความคิดเห็น

  1. ผมอยากฝึก I message ครับ ผมต้องเริ่มยังไง พอแนะนำได้ไหมครับ ขอบคุณครับ

    Background นะครับ ปกติคิดยังไงก็โพร่งออกไปเลยครับ ตอนเด็ก ๆ ไม่มีผลกระทบครับ พออายุมากขึ้น เริ่มเห็นผลกระทบ จากเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ

    เวชาเห็นคนใช้คำพูดง่าย ๆ แล้วเห็นภาพ หรือคำพูดที่ดูดีสวยงาม จริงใจ ผมอยากเรียนรู้วิธีพูดแบบนั้นบ้างครับ ขอบคุณที่ผ่่่านมาอ่านข้อกังวลของผมนะครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. แนะนำให้ลองไปสมัครในเพจ Toolmorrow หรือ เพจ คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน ตอนนี้เขาเปิดสอนวิธีการสื่อสารเชิงบวก ด้วย I message ครับ ฟรี เรียนออนไลน์ 9 วัน

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

Sedation in Pediatrics