Executive function คืออะไร

ดีใจที่ได้มาปัดฝุ่น blog นี้อีกรอบ หลังจากที่โดดไปแจมกับหลายที่ หวังว่าจะมีคนอ่านบ้างนะครับ (ถ้ามันจะเป็นประโยชน์ให้คนอ่าน สักคนสองคนก็ยังดี)



ปัจจุบันถ้าเราไปดู รูปแบบการศึกษาที่เกิดขึ้นใหม่ในไทย โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย หรือวัยอนุบาล หลายโรงเรียนได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอน จากเดิมที่ฝึกให้เขียน ฝึกให้อ่าน เปลี่ยนเป็นการเล่นบทบาทสมมติ การฝึกทักษะการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การฝึกศิลปะเสริมสร้างจินตนาการ เป็นต้น ซึ่งโดยรวมแล้วการศึกษาแนวใหม่ จะเน้นให้มีการพัฒนา EF หรือ Executive function ..... สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ พ่อแม่บางคนเองอาจจะไม่เข้าใจว่า EF สำคัญอย่างไร พ่อแม่จะสามารถส่งเสริม EF ได้ไหม แล้วจะส่งผลทำให้เรียนเขียนอ่านได้ช้าหรือไม่ ?




ต้องตอบประเด็นหลังก่อนครับ ว่าการปรับเปลี่ยนการเรียนในช่วงปฐมวัย หรือวัยอนุบาล ที่เน้นทักษะ EF นั้น ไม่ได้ส่งผลกับทักษะการอ่าน การเขียนแต่อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วเด็กจะสามารถอ่านเขียนได้ ตามระดับพัฒนาการที่ล้อไปตามอายุของเด็กอยู่แล้ว แต่สำหรับ EF นั้น ช่วงปฐมวัย คืออายุ 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาทองที่ Prefrontal cortex ในเนื้อสมองส่วนหน้า จะพัฒนา Executive function อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเราทำให้เด็กมี Executive function ที่มีคุณภาพได้ในตอนนี้ จะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ซึ่งจะกล่าวต่อไป




คำถามต่อมา แล้ว EFคืออะไร
Executive function เป็นทักษะการบริหาร จัดการ และกำกับความคิด อารมณ์ พฤติกรรม ให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ ซึ่งมีความสำคัญทั้งในการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมในสังคม ซึ่ง EF จะประกอบด้วยทักษะพื้นฐาน 3 อย่างคือ


1. Working memory เด็กจะต้องฝึกความสามารถในการจดจำ เก็บข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับข้อมูลเดิม และพัฒนาต่อยอดความคิดได้ เช่น การที่เด็กจะทำโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ได้ เด็กจะต้องมีการนำความรู้ขั้นพื้นฐานที่เคยเรียนมา และจดจำได้ เช่น การบวก ลบ คูณ หาร มาต่อยอดและประยุกต์กับโจทย์ปัญหาให้เชื่อมโยงกัน


2. Inhibitory control เป็นการควบคุมตนเอง ทั้งในด้านของความคิด (cognitive inhibition) ด้านสมาธิ (Selective attention) ด้านพฤติกรรม (response inhibition) เช่น การที่เด็กจะนั่งทำงานจนเสร็จได้นั้น เด็กจะต้องมีการควบคุมพฤติกรรมตนเอง ไม่ให้ไปสนใจสิ่งยั่วยุภายนอก เลือกที่จะเพ่งสมาธิไปกับการทำงานมากกว่า และพยายามไม่คิดเรื่องที่ไม่สำคัญที่อาจจะทำงานไม่เสร็จ หรือเด็กที่อยากกินขนม แต่อดทนรอคอยให้แม่อนุญาตก่อน เด็กก็จะต้องยับยั้งชั่งใจตัวเอง ทั้งความคิด ทั้งพฤติกรรม และเลือกเพ่งเล็งสมาธิไปอย่างอื่นก่อน รอให้แม่มา


3. Cognitive flexibility ความสามารถในการคิดนอกกรอบ คิดในมุมมองของผู้อื่น สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใหม่ ๆ ได้ จนบรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่นเมื่อวางแผนการทำงานแล้ว แต่เกิดสถานการณ์ขับขันบางอย่าง ทำให้ไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ก็สามารถคิดหาแนวทางใหม่ เพื่อทำให้งานสำเร็จลุล่วง รวมถึงการเข้าใจผู้ร่วมงาน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้ปฏิบัติงานกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดังนั้นเด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น เด็กจะต้องมี EF ที่ดี ทั้ง Working memory, Inhibitory control และ Cognitive flexibility




คำถามสุดท้าย นอกจากแผนการสอน EF ที่แอบแฝงไปกับกิจกรรมที่่ทำในโรงเรียนแล้ว พ่อแม่จะทำอะไรเพื่อช่วยส่งเสริมการมี EF ที่ดีได้บ้าง


1.การเลี้ยงดูลูกเชิงบวก (Positive parenting) คือ การเลี้ยงดูโดยให้ความรัก ความอบอุ่น ตอบสนองเด็ก เมื่อเด็กต้องการการ support จากพ่อแม่ พ่อแม่ก็สามารถสนองให้ได้ทันที แต่ไม่ได้หมายความถึงการเลี้ยงดูแบบตามใจ พฤติกรรมหรือการกระทำใด ทำไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องหนักแน่น แต่ไม่ดุว่าหรือตี อาจเน้นการเบี่ยงเบนหรือให้ทางเลือกอื่นแทน เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมตามพัฒนาการตามวัย เมื่อเด็กเริ่มทำ ให้ชมเชยที่ความพยายามของเด็ก เมื่อโตขึ้นเปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ส่งเสริมให้เด็กได้ตัดสินใจและเลือกด้วยตนเอง โดยที่พ่อแม่เองเป็นผู้สนับสนุนให้คำแนะนำ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีศักยภาพในการทำงานให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง มีความนับถือตัวเอง ไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ..... ซึ่งการฝึกแบบนี้จะทำให้เด็กมีทักษะการควบคุมตนเองมากขึ้น รู้จักกฏระเบียบในสังคมและการอยู่ร่วมกับคนอื่น กล้าแสดงออก ฝึกคิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เพราะรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพเพียงพอ รู้จักคุณค่าของตัวเอ


2.ฝึกเจริญสติสัมปชัญญะ ไม่ได้หมายถึงแค่การนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออก แต่การที่ทำให้เด็กรู้สติ รู้ว่าตัวเองทำอะไร ก็ถือเป็นการฝึกเช่นกัน เช่นการให้เด็กช่วยยกจานข้าวไปวางบนโต๊ะ เด็กต้องควบคุมตนเองไม่ให้จานตกแตก หรือการที่ทำให้เด็กรับรู้ถึงความรู้สึกตนเอง เช่น เด็กร้องไห้อยากได้ของเล่น พ่อแม่พูดว่า "หนูโกรธที่ไม่ได้เล่นของเล่น" ก็ถือเป็นการทำให้เด็กรู้ถึงความรู้สึกของตนเอง ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กเรียนรู้ และปรับการแสดงออกทางพฤติกรรม อารมณ์ได้อย่างเหมาะสมขึ้น


3.การนอนหลับ พบว่าการนอนไม่เพียงพอ มีผลต่อการควบคุมตนเองหรือ inhibitory control ที่ลดลง เกิดพฤติกรรมเสี่ยงตามมามากมาย เช่น การติดสิ่งเสพติด การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การท้องในวัยเรียน การกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นการสร้างสุขลักษณะการนอนที่ดี จะทำให้ EF ดีไปด้วย เช่น การจัดห้องนอนให้อุณหภูมิเหมาะสม สะอาด สบาย หลีกเลี่ยงการดูจออิเล็กทรอนิกส์ในห้องนอน หรือใกล้เวลาเข้านอน ไม่มีแสงสว่างในห้อง เงียบสงบ พยายามฝึกให้เด็กกล่อมตัวเองนอนได้เอง โดยการส่งเด็กเข้านอนตอนช่วงกึงหลับกึงตื่น เวลาตื่นกลางดึกก็จะสามารถกลับเข้านอนได้เอง ถ้าเด็กโตหน่อย อาจมี Transitional objects เช่นผ้าห่ม ตุ๊กตาตัวโปรด เพือช่วยให้สบายใจ และเข้านอนได้ด้วยตนเอง
4.สื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผลต่อทั้ง Working memory, Inhibitory control และ Cognitive flexibility ดังนั้น ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ แม้กระทั่งการเปิดทีวีทิ้งไว้ ก็ไม่ควรทำ ให้เปลี่ยนไปเป็นเล่นกับเด็ก หากิจกรรมให้เด็กทำ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี  ทำงานศิลปะ ส่วนในเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี แนะนำให้ดูได้วันละ 1 ชั่วโมง โดยต้องเป็นรายการที่เหมาะสำหรับเด็ก เป็นรายการเรียนรู้ และต้องมีพ่อแม่คอยนั่งประกบ และคอยอธิบายเนื้อหาให้กับเด็ก


ขอบคุณ ข้อมูลจากอาจารย์วีระศักดิ์ ชลไชยะ จากงานประชุม DBP ด้วยนะครับ
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.growinghandsonkids.com/executive-functioning-skills.html

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

LDL-C = Total Cholesterol - HDL-C - TG/5 ถูกต้องหรือไม่ ?