Positive parenting การเลี้ยงดูลูกเชิงบวก


Positive Parenting (การเลี้ยงดูลูกเชิงบวก) เป็นการเลี้ยงลูกที่เต็มไปด้วยความรัก ความเอาใจใส่อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งเสริมทำให้เด็กสามารถพัฒนา Executive function ทั้ง Working memory เรียนรู้ว่าถ้าทำพฤติกรรมนี้จะเกิดอะไรตามมา ครั้งต่อไปควจะรทำหรือไม่ควรทำ และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดต่อได้หรือไม่ Inhibitory control รู้จักควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรม เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ และ Cognitive flexibility รู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ต่าง ๆ และกล้าแสดงการแก้ปัญหาอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ (ซึ่งกล่าวไว้ละเอียดเมื่อคราวก่อนแล้ว ไปตามอ่านกันได้นะครับ)

แล้ววิธีการเลี้ยงดูลูกเชิงบวกต้องทำอย่างไรบ้าง




1. Unconditional love and acceptance อันดับแรก พ่อแม่ต้องเข้าใจและยอมรับลูกของตนเองว่ามีทักษะ ความสามารถ ความถนัด และพื้นฐานอารมณ์เป็นอย่างไร ให้รักลูกในแบบที่ตัวเด็กเป็น ไม่เปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เช่น การที่มีลูกเป็น Slow to warm up child พ่อแม่ต้องเข้าใจพื้นฐานว่าเด็กเอง มีความกังวล อ่อนไหวง่ายและไม่กล้าแสดงออก หรือไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ใหม่ ดังนั้นต้องให้เวลามากกว่าเด็กที่เป็น easy child ต้องให้กำลังใจมากกว่า ต้องชื่นชมในความพยายามที่มากของเด็กด้วยเช่นกัน หรือ เด็กที่เป็น difficult child เลี้ยงยาก ซนมาก อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย พ่อแม่ก็ต้องมีความอดทนที่มาก สร้างแรงกระตุ้นหรือชื่นชมในการทำพฤติกรรมที่พ่อแม่คาดหวังให้มากขึ้น

2. หา Goodness of fit แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนเมื่อยอมรับในตัวเด็กแล้ว ทุกคนก็ย่อมมีความหวังว่าลูกเราจะต้องทำอันนั้นได้ อันนี้ได้ แต่ความคาดหวังของพ่อแม่ก็ต้องสอดคล้องไปกับพัฒนาการตามอายุ และพื้นฐานทางอารมณ์เช่นกัน เช่น เมื่ออยากให้ลูกเริ่มนั่งกระโถนได้ด้วยตนเอง ก็ต้องรู้ว่าอายุที่สามารถฝึกได้ตามพัฒนาการ น่าจะประมาณ 2 ขวบ เมื่อถึงอายุที่ฝึกได้ พ่อแม่ก็จะต้องแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง ชวนให้นั่งกระโถน ให้คำชมเชย และเข้าใจถึงพื้นอารมณ์ของเด็ก บางคนอาจต้องใช้เวลา ให้ค่อย ๆ ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ

3. มี Quality time หรือช่วงเวลาคุณภาพกับเด็ก ทุกวันอย่างน้อยวันละ 15 นาที โดยช่วงเวลานี้พ่อแม่ต้องปิดมือถือ ปิดโทรทัศน์ และสิ่งรบกวนอื่น ๆ ให้ใช้เวลาอยู่กับเด็กอย่างแท้จริง
  1. มีการจัดสถานที่ที่ปลอดภัย ถ้าที่บ้านสามารถจัดโซนของเล่นได้จะดีมาก มีอุปกรณ์การเล่น โดยให้เด็กเป็นคนเลือกเองว่าจะเล่นอะไร เช่น ต่อก้อนไม้ รถยนต์ของเล่น ตุ๊กตา ทำกับข้าว แป้งปั้น กระดาษดินสอสี โดยที่ไม่ควรมีของเล่นที่เน้นความรุนแรง เช่น ดาบ ปืน วีดีโอเกมต่อสู้
  2. เมื่อเด็กเริ่มเล่น พ่อแม่เองต้องพูดพากย์ว่าตอนนี้เด็กกำลังทำอะไรอยู่ โดยที่ไม่ควรถามคำถาม ไม่ออกคำสั่ง ให้เด็กเล่นไปตามที่เค้าอยากจะเล่น โดยบรรยากาศต้องผ่อนคลาย มีความสุขและสนุกไปด้วยกัน
  3. พ่อแม่ต้องฝึกการชมในขณะที่เล่น ไม่ชมพร่ำเพรื่อหรือเกินจริง ให้ชมในความพยายาม มากกว่าจะชมที่ผลงาน เช่น แม่ชอบที่ลูกตั้งใจวาดรูป
  4. ถ้าในขณะเล่น ลูกทำสิ่งที่ไม่ถูกใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ควรให้ความสนใจ แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ให้เตือนหนึ่งครั้ง เช่น ลูกปาของเล่นชิ้นนี้ไม่ได้ เพราะจะทำให้มันพัง ถ้าเตือนแล้วยังไม่ฟัง มี 2 วิธี คือ เพิกเฉยไม่สนใจ หรือ เบี่ยงเบน เช่น ถ้าลูกอยากปา ลูกสามารถปาลูกบอลนี้ได้นะ


4. ส่งเสริม Efficacy communication skill  พ่อแม่ต้องรู้ช่วงเวลาของการสอน ถ้าเด็กยังสนใจฟัง ให้พูดด้วยคำพูดที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย แต่ถ้าเด็กไม่สนใจฟัง ร้องไห้ โวยวาย พ่อแม่ควรพูดคุยอย่างเหมาะสม เช่น แม่รู้ว่าลูกโกรธ แต่ลูกโกรธแล้วร้องเสียงดัง แม่ฟังไม่รู้เรื่อง เด็กก็จะได้เรียนรู้ด้วยว่า การกรีดร้องตอนโกรธ เป็นปัญหาในการสื่อสาร เด็กก็จะพยายามควบคุมอารมณ์ และพยายามใช้ภาษาในการสื่อสารมากขึ้น

5. ส่งเสริม self-regulation
  1. มีการจัดกิจวัตรประจำวัน และมีการสร้างกฎปฏิบัติอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กสามารถคาดได้ว่า เดี๋ยวพอจบจากกิจกรรมนี้ จะทำอะไรต่อ ทำให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ง่ายขึ้น รู้ว่าตอนกี่โมงจะได้วิ่งเล่น ตอนกี่โมงจะได้กินขนม ถ้าทำพฤติกรรมที่ดี ก็จะได้ไปเล่นเร็วขึ้น (ฝึกให้รู้จักกฎกติกา)
  2. ยอมรับกับอารมณ์ และตอบสนองต่ออารมณ์ของเด็ก  เช่น แม่รู้ว่าหนูเสียใจที่ไม่ได้ดูการ์ตูน แต่เราไปเล่นอย่างอื่นแทนดีไหมจ๊ะ ถ้าเด็กหยุดร้อง อาจใช้คำพูดชื่นชม เมื่อเด็กควบคุมตนเองได้ดี เช่น แม่รู้สึกดีมากเลยที่หนูหยุดร้องไห้ได้เร็ว
  3. ใช้ I-message ทำให้เด็กเรียนรู้ถึงความรู้สึกของผู้ใหญ่ และรู้ถึงผลกระทบที่เค้าแสดงพฤติกรรมนั้น เช่น แม่รู้สึกเสียใจที่หนูตะโกนใส่แม่
  4. ส่งเสริมให้เด็กมีการสื่อสาร แสดงออกถึงอารมณ์ของตัวเอง เช่น แม่รู้ว่าลูกเสียใจ พอจะเล่าให้แม่ฟังได้ไหม แม่จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเด็กเล่า ผู้ใหญ่ก็ควรตั้งใจฟังอย่างเข้าใจ แม่เข้าใจเลยที่หนูรู้สึกแย่แบบนั้น แต่แม่เชื่อว่าหนูจะผ่านมันไปได้
  5. เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เช่น แม่กำลังโกรธอยู่ แม่ยังไม่อยากคุยตอนนี้จ๊ะ หรือ หนูคิดว่าน้องร้องไห้เพราะอะไรนะ หรือ หนูคิดว่าเพื่อจะรู้สึกอย่างไรถ้าเราหยิบของเล่นเค้าไปโดยที่ไม่ขอก่อน
  6. สอนทักษะการแก้ปัญหา เช่น หนูอยากได้ของเล่นของหนูคืน แต่ว่าน้องเล่นอยู่ จะทำอย่างไรดีจ๊ะ โดยให้เด็กเป็นคนคิด พ่อแม่อาจจะช่วยเสริม เช่น เราขอน้องคืน แล้วเอาชิ้นนี้ให้น้องเล่นแทนดีไหม



6. Positive discipline เช่นการให้แรงเสริมเชิงบวก positive reinforcement ถ้าเด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสม พ่อแม่ให้ความสนใจ และชมเชยถึงความพยายามให้การทำกิจกรรมนั้น แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ให้เตือนก่อน ถ้ายังทำให้เพิกเฉยไม่สนใจชั่วคราว หรือ เบี่ยงเบนให้ทำอย่างอื่น ถ้าสิ่งที่เด็กทำนั้น ทำร้ายต่อร่างกายตนเองหรือคนอื่น พ่อแม่ต้องกอดรวบตัว หรือจับมือ แล้วบอกสั้น ๆ ว่า หนูโกรธได้นะ แต่หนูตีคนอื่นไม่ได้ จับไว้แล้วรอจนกว่าจะสงบ


หลักการเลี้ยงลูกง่่าย ๆ แค่เริ่มต้นจากคำว่า "รัก" รักลูกในแบบที่เค้าเป็น มีความคาดหวังที่เหมาะสมกับตัวลูก จัดสรรเวลาคุณภาพกับลูก สอนทักษะทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สอนทักษะการควบคุมตนเอง และสอนวินัยเชิงบวก หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ในการออกแบบ Positive parenting ในแบบที่เหมาะสมที่สุดกับลูกของเรา

*ขอบคุณข้อมูลจาก ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กเล่ม 4








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

LDL-C = Total Cholesterol - HDL-C - TG/5 ถูกต้องหรือไม่ ?