Sibling Rivalry : แม่รักฉันมากกว่า!!!

เป็นเดือนแรกของการอบรมแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2 โดยเดือนนี้ผมวนอยู่ที่หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ผมกังวล และรู้สึกว่าไม่ถนัดอย่างมาก เนื่องจากความลำบากหนึ่งในนั้นคือการต้องต่อสู้กับหนังตาที่จ้องแต่จะตกอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการรวบรวมสติให้คงอยู่อยู่เสมอ 555 (ล้อเล่นนะครับ อิอิ)

หลังจากที่ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ในจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ผมได้ตระหนักถึงบางสิ่งที่สำคัญ ที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเด็ก ๆ นั่นคือศิลปะในการเลี้ยงดูลูกของบิดามารดา ถ้าเลี้ยงดี ลูกก็ดี เลี้ยงไม่ดี ลูกก็ไม่ดีตามไปด้วย ผมจะขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ผมเพิ่งได้เจอมาวันนี้

Case เด็กผู้หญิง อายุ 11 ปี ไม่มีประวัติโรคประจำตัว หรือเจ็บป่วยเรื้อรังนำมาก่อน

10 วันก่อนมารพ. มีประวัติขาทั้ง 2 ข้างอ่อนแรง ร่วมกับมีชาที่บริเวณน่องจนถึงปลายเท้า แต่ยังกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ ปฏิเสธประวัติอุบัติเหตุ ปฏิเสธประวัติอาการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ และ ระบบทางเดินอาหารก่อนหน้านี้ ที่รพ.ต่างจังหวัดจึงส่งตัวผู้ป่วยเข้ามา เนื่องจากสงสัยภาวะ Guillain-Barre Syndrome

ทาง Neuro ได้เข้าร่วมประเมินผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งเมื่อมาถึงที่เรา อาการผู้ป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และผล Work up ต่าง ๆ ไม่สามารถอธิบายได้จากโรคของทางระบบประสาทในขณะนี้ ทาง Neuro จึงได้ปรึกษาทางแผนกจิตเวช เพื่อร่วมประเมินภาวะ Conversion Syndrome

*** แต่ต้องชิงบอกก่อนว่า ครั้งนี้ผมไม่ได้จะมาพูดถึง Conversion disorder แต่จะขออธิบายคร่าว ๆ ก่อน เพราะ ตัวผมเองก็ไม่ได้ชำนาญโรคทางจิตเวชมากนัก โดยภาวะ Conversion disorder คือการที่ผู้ป่วยมี Psychological conflict / Wish / Need บางอย่าง แล้วทำให้เกิดเป็น Anxiety หรือความวิตกกังวลภายในจิตใจ จนทำให้เกิดการ Convert จากอาการทางใจ เป็นอาการทางกาย ในรูปแบบของอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง หูไม่ได้ยิน หรือ ตามัวมองไม่เห็น ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยเองไม่ได้แกล้งทำ แต่มันเป็นกลไกอันสลับซับซ้อนภายในจิตใจ 

ทางจิตเวชเอง ก็ได้เข้ามาร่วมประเมินอาการ แล้วก็พบถึงต้นตอสาเหตุของอาการในผู้ป่วยรายนี้คือ Sibling Rivalry เนื่องจากผู้ป่วยรู้สึกอิจฉาน้องสาวของตัวเองที่ได้รับความรักจากมารดามากกว่า และใช้ให้ผู้ป่วยทำงานบ้านทั้งที่ไม่อยากทำ โดยที่น้องสาวไม่ต้องทำ ซึ่งเป็นเหตุที่สะสม และระเบิดออกมา กลายเป็นอาการทางกาย ซึ่งผลของอาการดังกล่าง ทำให้ผู้ป่วยได้ Primary gain จากการที่ไม่ต้องทำงานบ้านจากความเจ็บป่วยของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิดกับมารดา และที่สำคัญคือ Secondary gain จากมารดา ให้มาสนใจผู้ป่วยมากกว่าจะสนใจน้อง 

ปัญหาคือ มารดาเอง รักลูกทั้ง 2 คนเท่ากัน แต่ความห่วงไม่เท่ากัน เพราะน้องสาวยังเล็กอยู่ แต่เทคนิคที่มารดาทำ อาจจะยิ่ง ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด คิดว่าถูกแย่งความรักไป

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณแม่หลายคน คงเริ่มกลัวแล้วหล่ะซิ ว่าเราจะจัดการกับปัญหาเรื่องพี่ ๆ น้อง ๆ กันอย่างไร ผมจะเริ่มจากวิธีการป้องกันปัญหานี้

  • Avoid labeling เช่น คนดีของแม่ , คนเก่งของแม่

  • Avoid unfavorable comparisons เช่น
กรณีศึกษา1 พ่อ : ทำไมลูกถึงไม่กลับบ้านมาเรียนดนตรีตรงเวลาแบบน้องบ้าง
                    ลูก : ....เกลียดเจ้าน้องแสนดีนี่จริง ๆ เลย .....
กรณีศึกษา2 พ่อ : ครูสอนกีต้าร์มารอ 10 นาทีแล้วนะลูก
                    ลูก : ....เราน่าจะกลับบ้านตรงเวลานะ....
  • Avoid favorable comparisons เช่น
กรณีศึกษา1 แม่ : ลูกเก็บของเรียบร้อยดี ไม่ทิ้งเกะกะเหมือนน้อง
                     ลูก : ....แม่รักเรามากกว่าน้อง....
กรณีศึกษา2 แม่ : แม่เห็นหนูเก็บของเล่นทุกอย่างเรียบร้อย
                     ลูก : ....เราดีที่เก็บของเป็นระเบียบ....

  • ไม่ต้องอธิบายเรื่องการแบ่งสิ่งของกับของกินว่าเท่ากันหรือไม่เท่ากัน เพียงแต่ให้ไป focus กับความต้องการของเด็กมากกว่า
กรณีศึกษา1 ลูก : พ่อให้แพนเค้กพี่เค้ามากกว่าผม
                    พ่อ : ไม่จริงสักหน่อย พ่อให้คนละ 4 ชิ้นเท่ากัน
                    ลูก : แต่ของพี่ชิ้นใหญ่กว่านี่นา
                    พ่อ : ไม่ใหญ่กว่าสักหน่อย พ่อทำเท่ากันทุกอัน
กรณีศึกษา2 ลูก : พ่อให้แพนเค้กพี่เค้ามากกว่าผม
                    พ่อ : ลูกยังไม่อิ่มหรือ
                     ลูก : ยังไม่อิ่มครับ
                    พ่อ : ลูกจะเอาอีกครึ่งชิ้น หรือ อีกชิ้นหนึ่งเต็ม ๆ ไหม
  • อย่าบอกว่ารักลูกเท่ากัน เพราะความเข้าใจของเด็กความรักของพ่อแม่ก็เหมือนสิ่งของ เป็นก้อน แบ่งไม่ได้ ถ้าให้ใครไป คนนั้นได้คนเดียว แต่ควรแสดงให้เห็นว่ารักลูกแต่ละคน เป็นแบบพิเศษแตกต่างกัน เช่น
กรณีศึกษา1 ลูก : แม่รักใครที่สุดคะ
                    แม่ : แม่รักลูกทุกคนเท่ากันนั่นแหล่ะ
                    ลูก : .... แม่ก็พูดไปงั้นแหล่ะ จริง ๆ ไม่ได้รักเราเท่ากันสักหน่อย....
                    แม่ : แม่ก็บอกหลายครั้งแล้วนะ ว่าแม่รักเท่า ๆ กัน
กรณีศึกษา2 ลูก : แม่รักใครที่สุดคะ
                    แม่ : ลูกแต่ละคนก็พิเศษไปคนละแบบ ลูกเป็นโรบินคนเดียวของแม่ ไม่มีใครในโลกนี้
                            เหมือนลูกหรอกจ๊ะ
                    ลูก : .... แม่รักเราจริง ๆ เลย ....
                    แม่ : ไม่มีใครยิ้มเหมือนหนู คิดเหมือนหนู แม่ดีใจที่หนูเป็นลูกของแม่

ไม่ง่ายใช่ไหมครับ นี่แค่เทคนิคที่ป้องกัน Sibling Rivalry เองนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดเรื่อง พี่น้องทะเลาะกัน วิธีการคือ
  1. เข้าไปรับฟัง ทำความเข้าใจเด็กทั้ง 2 คน และทำให้เด็กทั้ง 2 คนสงบก่อน
  2. ย้ำข้อตกลงที่เกี่ยวข้องที่เด็กต้องปฏิบัติ หรือเงื่อนไขที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้
  3. แสดงความเชื่อมั่นว่าเด็กจะแก้ปัญหาเองได้ และลองให้เด็กจัดการปัญหากันเองก่อน
  4. ไม่ตัดสินปัญหาแทนเด็ก
  5. ถ้าเหตุการณ์รุนแรง ให้จำกัดขอบเขต แยกเด็กออกมา
หวังว่าบทความนี้ คงจะพอช่วยสอนเทคนิควิธีการหลีกเลี่ยง รวมถึงการแก้ปัญหา Sibling Rivalry ไม่มากก็น้อยนะครับ ..... ขอบคุณที่ติดตามครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.positiveparentingsolutions.com/sibling-rivalry

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

Sedation in Pediatrics