ปัญหาที่พบได้บ่อยในทารกที่เลี้ยงดูด้วยนมแม่

สวัสดีครับ มีเวลากลับมาเขียนอีกรอบ และก็ดีใจมาก ๆ ที่ผมเขียนมาถึงบทความที่ 100 แล้ว เย่เย่ ๆ 555

มาเข้าเรื่องที่จะเขียนกันวันนี้เลย เนื่องจากเมื่อวานได้มีโอกาสเรียนรู้ที่ clinic นมแม่ กับอาจารย์เกรียงศักดิ์ ซึ่งได้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมาย เกี่ยวกับการช่วยเหลือดูแลมารดาที่ให้นมบุตรและเด็กทารก วันนี้จึงจะนำเสนอเรื่องราวของปัญหาที่เราพบได้บ่อยในทารกที่เลี้ยงดูด้วยนมแม่


ขอบคุณรูปภาพจาก : http://www.pregnancyandbaby.com/the-hatch-blog/articles/965765/latching-101




1.เมื่อไหร่เราจะรู้ว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ

คิดว่าเป็นคำถามที่แพทย์หลายคนเจอบ่อย และ พ่อแม่บางคนมักจะกังวลกับปัญหาน้ำหนักลูกที่ลดลง ซึ่งมักเป็นอาการสำคัญที่ทำให้พ่อแม่หลายท่านมาพบแพทย์

อาการที่แสดงว่าทารกครบกำหนดได้รับนมแม่เพียงพอ
  • ลูกหยุดดูดนมเอง และนอนหลับหลังดูดนม
  • นอนหลับหลังดูดนาน 2-3 ชั่วโมง
  • น้ำหนักของทารกในช่วงแรกจะลดลงอยู่แล้ว ซึ่งเป็นภาวะปกติ Physiologic weight loss โดยมักจะลดไม่เกิน 7% ของน้ำหนักแรกเกิด โดยน้ำหนักจะต่ำที่สุดในวันที่ 3 ของชีวิต แล้วจะค่อย ๆ กลับขึ้นมาจนเท่ากับน้ำหนักเด็กแรกเกิด ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นน้ำหนักจะขึ้น 20-30 กรัมต่อวัน
  • ปัสสาวะวันละ 3-6 ครั้งต่อวัน และอุจจาระ 3-5 ครั้งต่อวัน 
  • ส่วนอาการในแม่คือ ก่อนให้ดูดนม เต้านมแม่จะคัดตึง แต่หลังดูดนมจะนุ่ม และเต้าที่ไม่ถูกดูดจะมีน้ำนมไหลออกมาเรียกว่า let down reflex ซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่าน้ำนมแม่มีเพียงพอกับความต้องการของลูก
2.น้ำนมแม่ไม่พอในช่วงแรก จะทำอย่างไร ?

โดยปกติ นมน้ำเหลืองหรือ Colostrum จะถูกสร้างตั้งแต่ตอนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จนถึงอายุทารก 1วัน ซึ่ง Colostrumจะมีปริมาณประมาณ 40-50 ml/day ซึ่งเพียงพอกับเด็กทารกในวันแรกอยู่แล้ว เพราะ gastric volume ในวันแรกของทารกจะประมาณ 5-7ml/มื้อ (ทานวันละ 8 มื้อ) เท่านั้น ซึ่งเพียงพอแน่นอน หลังจากนั้นจะมีการสร้าง true milk มาผสมกับ Colostrum เราเรียกนมส่วนนี้ว่า transitional milk ซึ่งจะมีจนถึงอายุ 2 สัปดาห์หลังจากนั้นจะเป็น True milk only ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของลูกแน่ ถ้ามารดาให้นมจากเต้าเอง เนื่องจากการที่มีการดูดนมจากเต้ามารดาของบุตร จะกระตุ้นการหลั่งoxytocin & prolactin ส่งผลทำให้สร้างน้ำนมได้มากขึ้น หลั่งน้ำนมได้มากขึ้น ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะถ้าช่วงนี้ถ้าแม่เครียด หรือหมดความอดทนกับการให้ดูดเต้า ไปใช้อุปกรณ์อื่น เช่นขวดนม ป้อนช้อน ป้อนถ้วย ยิ่งทำให้น้ำนมแม่น้อยลง ก็จะยิ่งแย่ วิธีแก้คือ
  • สิ่งสำคัญเลย คือครอบครัวจะต้องประคับประคองอารมณ์ไม่ให้คุณแม่เครียด
  • อย่าปล่อยให้เด็กร้อง ยิ่งทำให้คุณแม่เครียด ยิ่งจะเร้าให้คุณแม่หันไปเลือกนมผสมและอุปกรณ์การให้นมบุตรอย่างอื่น คุณแม่ควรต้องสังเกตุอาการหิวของเด็กทารก ไม่ว่าจะเป็น ตื่นตัว ทำท่าทำปากดูดนม หันปากหาหัวนม ส่วนอาการร้อง คือ อาการสุดท้ายของเด็ก
  • อย่าเพิ่งรีบเลือกอุปกรณ์การให้นม ถ้าพยายามแล้วไม่ได้ เราจะใช้วิธี Medicine dropper หรือ Siphon
  • ห้ามให้น้ำเปล่า หรือ น้ำผสมกลูโคสกับเด็ก เนื่องจากไม่มีความจำเป็น



ขอบคุณรูปภาพ Siphon จาก : http://www.fotolibra.com/gallery/1169498/parents-dropper-feeding-premature-baby/


3.ปฏิเสธการดูดนมจากเต้านม

อันนี้เป็นปัญหาซึ่งเป็นผลพวงที่ตามมาจากข้อที่แล้ว ที่คุณแม่หันไปใช้อุปกรณ์อย่างอื่นในการให้นมลูก ซึ่งวิธี หรือ อุปกรณ์อื่น ๆ ทำให้ลูกไม่ได้ใช้แรงดูด และไม่ชินที่จะต้องออกแรงดูดนม วิธีแก้คือ
  • ให้พยายามหยุดการป้อนนม ที่ไม่ใช่การดูดเต้า
  • ให้แม่สังเกตุอาการหิวของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการตื่นตัว การทำท่าหรือปากดูดนม อ้าปากหันหาหัวนม ให้มารดารีบให้เด็กดูดเต้าทันที อย่าปล่อยให้เด็กร้อง เพราะถ้าเด็กร้องเมื่อไหร่ เด็กจะไม่ยอมดูดเต้าเลย ต้องกลับไปใช้วิธีการให้นมเดิมที่ใช้อยู่
  • ให้แม่อุ้มดูดนมในท่าฟุตบอล เพื่อเด็กจะอมลานหัวนมได้ลึกขึ้น ก็จะดูดได้ดีขึ้น
4.การถ่ายอุจจาระบ่อย

โดยปกติลักษณะของอุจจาระในเด็กทารก ช่วง 48 ชั่วโมงแรก อุจจาระจะมีลักษณะเป็น Meconium หรือขี้เทา หลังจากนั้นวันที่ 3 อุจจาระของเด็กจะเริ่มมีสีเหลืองปนขี้เทาออกมา เราเรียกว่า Transitional stool หลังจากวันที่ 3 อุจจาระของเด็กทารกจะมีลักษณะเป็นเม็ด ๆ สีทองคำ มีมูกปนได้

ซึ่งปกติทารกอาจจะถ่ายอุจจาระแบบกะปริดกะปรอย อาจจะถ่ายนับจำนวนครั้งได้ 10-20 ครั้งต่อวันได้ อาจ มีผายลมและอุจจาระเล็ดออกมาได้ ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ ถ้าตัวเด็กไม่ซึม ดูดนมได้ดี น้ำหนักขึ้นวันละ 20-30 กรัมต่อวัน ก็ไม่ใช่ลักษณะของท้องเดิน

สาเหตุก็เป็นจากการที่ช่วงอายุ 1-14 วัน ในนมแม่จะมี Colostrum ผสมอยู่ใน Transitional milk ซึ่งจะช่วยเรื่องการระบายท้องในเด็กทารก ดังนั้น หลังจากอายุ 14 วันเด็กก็จะมีจำนวนครั้งในการถ่ายที่ลดลงได้

อีกสาเหตุที่เจอได้บ่อยในเด็กหลังอายุ 14 วันที่ถ่ายมาก คือ คุณแม่ที่มีน้ำนมมากเกินไป ทำให้เด็กดูดได้ไม่หมด เด็กก็จะได้น้ำนมส่วนหน้ามาก Foremilk มากกว่าน้ำนมส่วนหลังคือ Hindmilk ซึ่งในน้ำนมส่วนหน้าเองจะมี Lactose เป็นส่วนประกอบมาก ซึ่งจะทำให้เด็กมีอาการถ่ายบ่อย และจะร้องกวนบ่อยเพราะมี ก๊าซ Hydrogen และ acid ไประคายเคืองผิวรอบรูทวารเด็กได้ วิธีการแก้ อาจจะแนะนำให้มารดาบีบน้ำนมส่วนต้นออกไปก่อนบางส่วนครับ เพื่อที่จะได้ให้ลูกดูดถึงน้ำนมส่วนหลัง

5.การไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน

เจอบ่อยมากใน OPD ซึ่งถามไปถามมา เด็กส่วนใหญ่มักจะโดนเหน็บยา หรือสวนก้นกันมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งทารกเองหลังอายุ 14 วัน นมจะเป็น True milk ซึ่งไม่ได้ช่วยในเรื่องของการระบายท้อง มีกากน้อย ทำให้ลำไส้เด็กสามารถดูดซึมกลับมาได้หมด ทำให้เหลือเป็นอุจจาระน้อย

ดังนั้น เด็กปกติสามารถถ่ายอุจจาระวันเว้นวันได้ ที่เคยเจอนานที่สุดถึง 2 สัปดาห์ ก็ยังได้ โดยเด็กจะไม่มีอาการอาเจียน ท้องอืด เวลาถ่ายอุจจาระจะออกมามากเป็นลักษณะนิ่มไม่แข็ง (เวลาเราดูดว่าเด็กท้องผูกหรือไม่ ให้ดูที่ลักษณะอุจจาระเป็นหลัก)

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ   ปัญหาที่พบบ่อยในแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

LDL-C = Total Cholesterol - HDL-C - TG/5 ถูกต้องหรือไม่ ?