NetCare

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน เป็นโลกแห่งยุคดิจิตอล อินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งในเรื่องการรับข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร การงานอาชีพ

แต่มันก็มาพร้อมกับปัญหา โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี เนื่องจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องของภาษายังไม่ดีมากเพียงพอ ดังนั้นเด็กยังจะไม่เข้าใจสิ่งที่สื่อส่งออกมา ซึ่งสวนทางกับความเข้าใจของพ่อแม่ ที่คิดว่าการเลี้ยงลูกด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ทักษะทางภาษา สังคม พัฒนาดีขึ้น .... ความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้นเลย

ทำไม ?

1. การที่เด็กใช้เวลากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จะทำให้เวลาที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ พี่น้องลดลง ใช้เวลาด้วยกันลดลง กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสารพูดคุยก็ลดลงด้วย ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้ มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ล่าช้า [Delay speech and Language development]

2. พ่อแม่บางท่านเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พยายามเลือกโปรแกรมที่เหมาะสม และนั่งประกบให้การพูดคุยและสอน รวมถึงอธิบายสิ่งที่สื่อต้องการสอน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี.... แต่มีงานวิจัยของ Lavigne และคณะ เมื่อปี 2015 เปรียบเทียบระหว่างให้พ่อแม่นั่งดูรายการทีวีสำหรับเด็กและพูดคุยสื่อสาร กับการที่พ่อแม่เล่นกับเด็กอย่างอิสระ โดยที่ไม่ได้ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ปริมาณและคุณภาพของภาษาที่พ่อแม่พูดสื่อสารกับเด็กในระหว่างการดูรายการโทรทัศน์ลดลง , งานวิจัยของ Christakis และคณะ ปี 2009 พบว่า พ่อแม่จะพูดสื่อสารลดลงประมาณ 500-1000 คำต่อชั่วโมงของการเปิดโทรทัศน์ และเด็กสื่อสารกับพ่อแม่ลดลงด้วยเมื่อเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ [ถ้าสามารถเลี่ยงได้ หรือหากิจกรรมอื่นได้ น่าจะได้ผลดีกับเด็กที่สุด]

3. ประเด็นต่อมาที่เจอได้บ่อยเวลาพูดคุยกับพ่อแม่ในคลินิก คือ ไม่ได้ให้ลูกดูทีวีเลย พ่อแม่ดูเอง ลูกก็เล่นของลูกไป จะส่งผลกระทบได้หรือไม่ …..ส่งผลแน่นอน ปกติเราเรียกสื่อแบบนี้ว่าเป็น Background media เปิดทีวีไป ลูกก็เล่นของลูกไป จากข้อมูลของ Schmidt และคณะ ปี 2008 พบว่าสื่อแบบนี้จะทำให้เด็กวอกแวก ขัดขวางการเล่นตามจินตนาการของเด็ก ทำให้เด็กเล่นได้ไม่ต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้วพ่อแม่เองก็จะให้ความสนใจกับสื่อมากกว่าเด็ก ทำให้การพูดคุยกับเด็กลดลงด้วยเช่นกัน

4. พ่อแม่บางท่านเอง ก็ยังคงคิดว่า มันน่าจะมีข้อดีบางอย่างบ้างแหล่ะน่า มันน่าจะส่งผลทำให้ IQ เด็กสูงขึ้นได้ไหม ถ้าเลือกโปรแกรมที่เหมาะสม พ่อแม่ประกบ มีงานของ Schmidt อีกเช่นกัน ปี 2009 พบว่าระดับสติปัญญาของเด็กที่ดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่อายุ 3 ปีไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่าง ๆ [ดังนั้น เราคงไม่มีข้ออ้างสำหรับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเด็กเล็กอีกต่อไป]

5. นอกจากเรื่องของภาษาและระดับสติปัญญาแล้ว ยังส่งผลถึงปัญหาการนอน งานวิจัยของท่านอาจารย์วีระศักดิ์ จากรพ.จุฬา ปี 2017 พบว่าเด็กที่ได้รับสื่อผ่านจอเป็นเวลานานต่อวัน ทำให้เกิดความลำบากในการเข้านอนมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการเข้านอนนานขึ้นกว่าจะหลับ

ดังนั้นทางกุมารแพทย์จึงมีข้อแนะนำ ไม่ควรใช้สื่อผ่านจอทุกประเภทในเด็กที่มีอายุ น้อยกว่า 2 ปี [แต่ในช่วงอายุ 18-24 เดือน ถ้าจำเป็นต้องใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอจริง ๆ ควรจะต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้การดูแลของบิดามารดาเสมอ]

สำหรับเด็กโต การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอ จะส่งผลกระทบต่าง ๆ ดังนี้

1. ส่งผลต่อความสามารถสมองระดับสูง [Executive function] ซึ่งเป็นทักษะการทำงานของสมองที่สำคัญ และจะส่งผลทำให้เด็กประสบความสำเร็จด้านการเรียน การทำงาน และชีวิตครอบครัว มีงานวิจัยของ Lillard และคณะ ปี 2011 ทำการเปรียบเทียบโดยการแบ่งเด็ก 4 ขวบ ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดูการ์ตูนที่มีการเปลี่ยนแปลงภาพอย่างรวดเร็วทางโทรทัศน์ [Fast-paced television cartoon] กับกลุ่มวาดรูป นาน 9 นาที และนำเด็กทั้ง 2 กลุ่มมาทำกิจกรรม 4 อย่างในการวัด Executive function พบว่า ภายหลังการดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอ เพียงแค่ 9 นาที ส่งผลทันทีต่อเด็กทั้งในแง่ของการควบคุมตนเอง และความจำในการใช้งานที่ลดลง

2. ส่งผลต่อพฤติกรรมสมาธิสั้น เนื่องจากการเล่นเกม มักจะเร้าให้ผู้เล่นมีความรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก มีการเปลี่ยนจุดสนใจอย่างรวดเร็วระหว่างารเล่น ทำให้เด็กจะมีความยากลำบากในการมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมีความตื่นเต้นน้อยกว่า

3. เกิดพฤติกรรมดื้อต่อต้าน ก้าวร้าว งานวิจัยของ Strasburger ปี 2012 พบว่าสื่อที่มีความก้าวร้าวรุนแรง จะเป็นหนึ่งในสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรง และก้าวร้าวในเด็กและวัยรุ่น และยังเป็นต้นกำเนิดของพฤติกรรมเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดืมแอลกอฮอล์ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควร

ดังนั้นกุมารแพทย์จึงมีคำแนะนำว่า เด็กอายุ 2-5 ปี ควรจำกัดการได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่าง ๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กที่เกิน 6 ปีนั้น ไม่มีระบุระยะเวลาที่เหมาะสมที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระยะเวลาใช้สื่อผ่านจอ ก็ไม่ควรส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันที่ควรจะทำ เช่น การกิน การนอน การเรียน กิจกรรมร่วมกันในครอบครัว

แน่นอนว่าเมื่อเราต้องมีการจำกัดระยะเวลา สิ่งที่จะเกิดตามมาในช่วงแรก คือ สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่และเด็ก สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับการพูดคุยตกลงกัน พ่อแม่จะต้องมีความหนักแน่นมากพอ ไม่โอนอ่อนกับเด็ก ถ้าคิดว่ามีความลำบากมาก ในการต้องยื้อแย่ง หรือควบคุมการใช้สื่อผ่านจอกับเด็ก ทาง กสทช มี application ดี ๆ นำเสนอ คือ NetCare 

NetCare เป็น Application บนสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ที่ช่วย
- กำหนดระยะเวลาการใช้งาน เช่น วันจันทร์ถึงศุกร์ ใช้ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด ใช้ได้ 2 ชั่วโมงต่อวัน
- กำหนดช่วงพักการใช้งาน เช่น พักการใช้ในช่วง 18.00-19.00 น. ซึ่งเป็นเวลาสำหรับการทำการบ้าน และ 20.00 น. เป็นต้นไป เพราะเป็นเวลาพักผ่อนกับครอบครัว
- พักการใช้งาน app ที่ต้องการ เช่น ต้องการปิด App YouTube ตอนทำการบ้าน แต่สามารถเปิดเว็บไซต์ หรือ App google เพื่อใช้ในการหาข้อมูลได้

โดยเป็น Application ที่พ่อแม่เอง สามารถควบคุมเด็กได้ดีขึ้น ผ่านมือถือของพ่อแม่ครับ

ถึงแม้ว่า NetCare อาจจะไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาหลัก เพราะการแก้ปัญหาคือการที่พ่อแม่ต้องมีกิจกรรมร่วมกับเด็ก แต่เนื่องด้วยบริบทของสังคมสมัยใหม่ การใช้ NetCare จึงเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่อีกแรง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

Sedation in Pediatrics