วัคซีนป้องกันเด็กพูดช้า

ช่วงที่อยู่ OPD เดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสตรวจคนไข้หลากหลายรู้แบบ แต่ไม่น่าเชื่อว่ามีเด็กและผู้ปกครองมาปรึกษาด้วย เรื่องลูกพูดช้า เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน บ่อยครั้งมาก ซึ่งบางกลุ่มก็เป็นเด็กที่มีปัญหาทางด้านการได้ยิน บางกลุ่มมีปัญหาเรื่องพัฒนาการโดยรวมช้า บางกลุ่มก็เป็น Autism แต่ประมาณ 50% จากประสบการณ์หนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมกลับเจอกลุ่มเด็กพูดช้าที่เกิดจาก Understimulation(ขาดการกระตุ้น) มากที่สุด

วิถีการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไป พ่อแม่ต้องแข่งขัน ต้องทำงานท่ามกลางสังคมที่วุ่นวาย ส่วนลูกเอง บ้างก็ส่งเข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็ก บ้างก็ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง บ้างก็จ้างแรงงานต่างด้าวเลี้ยง หรือ ในกรณีที่พ่อแม่ที่เลี้ยงไป ทำงานไป ก็มันเปิดทีวีให้เด็กดู เด็กร้องโวยวายก็เอามือถือ ไอแพดมาให้เล่น

พวกที่เข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือปู่ย่าตายายเลี้ยงมักไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องเด็กพูดช้ามาเท่า 2 กลุ่มหลัง เพราะสิ่งที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็กมักมาจากกระบวนการเลี้ยงดูเป็นสำคัญ และตอนนี้ผมพูดได้ว่าปัญหาเด็กพูดช้าเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ดังนั้นผมจึงมีคำแนะนำบางอย่าง อยากให้คุณพ่อคุณแม่ยุคไอที ได้ลองทำกันดู

Literacy Skill Promotion


เป็นเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาให้กับเด็ก โดยการอ่านหนังสือ ซึ่งจำเป็นต้องใช้คุณพ่อคุณแม่เป็นบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้ ที่จะต้องส่งเสริมแบบ 2 way communication ไม่ใช่ ไอแพดหรือมือถือ ซึ่งเป็น 1 way communication

โดยในเด็กเล็ก(6เดือนถึง2ปี) จะเน้นเป็นหนังสือภาพสั้น ๆที่มีสีสัน ชวนมอง เป็นหลัก แต่เมื่อเด็กโตมาหน่อย อาจเลือกเป็นหนังสือภาพที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของเด็ก เช่นหนังสือภาพที่ส่งเสริมการแปรงฟัน หนังสือภาพที่ส่งเสริมการเข้าห้องน้ำ เป็นต้น (ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่แน่ใจ เดินไปร้านหนังสือตรงโซนหนังสือเด็ก ก็จะมีเขียนอยู่แล้วว่า หนังสือนี้เหมาะกับเด็กอายุเท่าไหร่) เมื่อเลือกหนังสือได้แล้ว ก็ถึงเวลาเรียนเทคนิคการนั่งอ่านหนังสือกับเด็กกัน

1.อ่านหนังสือในห้องที่เงียบ และ ไม่มีสิ่งเร้าอื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ
2.จัดท่าในการอ่านหนังสือที่เหมาะสม ถ้าเด็กเล็ก อาจจะอาศัยวิธีการนั่งตัก แต่ถ้าโตหน่อย อาจจะให้นั่งข้าง ๆ ด้วยกัน
3.พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับรูปภาพ หรือ เรื่องราวเกี่ยวกับภาพ
4.กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการอ่าน เช่นการชี้ภาพ หรือเติมคำให้จบประโยค
5.มีเทคนิคในการอ่าน เช่นทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำเสียงตามอารมณ์ในเนื้อเรื่อง
6.สังเกตุท่าทางของเด็ก หากเบื่อก็เลิก
7.เชื่อมโยงเรื่องในหนังสือ กับ ชีวิตประจำวัน
8.เริ่มอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ตอน 6 เดือน

อันนี้คือเทคนิคโดยรวมที่สามารถใช้ได้กับเด็กทุกวัย แต่แต่ละวัยก็มีความแตกต่างกัน ในวิธีการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น

6-12 เดือน : เล่าเรื่อง หรือ อ่านหนังสือภาพสั้น ๆ ก่อนนอน

1-2 ปี : ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือ อ่านออกเสียงให้น่าสนใจ มีเทคนิคการอ่านเช่นการให้เด็กชี้ภาพ และ เติมคำให้จบประโยคเช่น "แมวกำลังวิ่งข้ามสะพาน แมวอยู่ไหนแล้วนะ? แมวที่ร้องเสียง___"

2-3 ปี : ให้เด็กถือหนังสือ และ พลิกหน้าหนังสือเอง เน้นการพูดคุยกับเด็กระหว่างการอ่านหนังสือ

3-5 ปี : ใช้นิ้วชี้ตามตัวอักษรจากซ้ายไปขวา และ บนลงล่างให้กับเด็ก เด็กจะได้เรียนรู้ทิศทางการอ่านหนังสือปกติ อาจให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องด้วย

ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย อย่างน้อย ๆ ก็ถือเป็นวัคซีนป้องกันเด็กพูดช้าได้ครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.catdumb.com/ipad-is-not-good-for-kid/


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

LDL-C = Total Cholesterol - HDL-C - TG/5 ถูกต้องหรือไม่ ?