Baby led weaning

เดี๋ยวนี้คุณพ่อคุณแม่บางท่านติดตามข้อมูลและมีการนำมาปรับใช้ เรื่อง Baby led weaning แต่พ่อแม่หลายคนยังไม่เข้าใจวิธีการและเหตุผล ดังนั้น บทความนี้จะมาชี้แจงเพิ่มเติมให้เข้าใจกันมากขึ้น

ปกติ เมื่อทารกแรกเกิด จะเริ่มทานนมแม่อย่างเดียว จนถึงอายุประมาณ 4-6 เดือน ก็จะเริ่มอาหารเสริมตามวัย หรือที่เราเรียกว่าเป็น Complementary food 

ทั่วไปเราจะเริ่มจากการให้ Complementary food เป็นอาหารบดละเอียดก่อน 1 มื้อ และเมื่อถึงอายุ 8-9 เดือน เราจะให้เป็น 2 มื้อ เมื่อครบ 12 เดือน เราจะให้ 3 มื้อ ซึ่งระหว่างที่เพิ่มมื้ออาหารตามวัย พ่อแม่จำเป็นจะต้องลดปริมาณนมที่ลูกทานลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการทานนมเพียงอย่างเดียว ในเด็กอายุมากกว่า 6 เดือนอาจไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโต และอีกประเด็นคือ การที่เด็กทานนมมาก ทำให้ไม่รู้สึกหิว ดังนั้นการเริ่มอาหารตามวัยจึงเป็นเรื่องที่ยากในเด็กที่ไม่ได้ลดปริมาณนม 

ถ้าเราใช้วิธีการง่าย ๆ คือ ทุก ๆ ครั้งที่เพิ่มอาหาร 1 มื้อ ควรจะต้องลดนมลงไป 1-2 มื้อเป็นอย่างน้อย เพราะเมื่อทานอาหารครบ 3 มื้อ เด็กก็จะเหลือมื้อนมเพียงแค่ 3 มื้อ เช่นกัน

นอกจากนั้นเมื่อทานอาหารหลักครบ 3 มื้อ ช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่ ก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนอาหารจากเดิมที่เคยบดละเอียด ค่อย ๆ เพิ่มความหยาบขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเด็กสามารถทานอาหารได้ตามปกติ

ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ ผมกำลังกล่าวถึง Traditional weaning คือวิธีการเปลี่ยนอาหารจากเดิมทานเฉพาะนมเปลี่ยนมาเป็นอาหารหลักได้ ซึ่งปัญหาหลักที่ผมพอจะสรุปได้เบื้องต้น จากการทำ Traditional weaning คือ
1. การตามป้อนอาหารเด็ก สำหรับเด็กบางคนเป็นเรื่องที่ยาก และเหนื่อย โดยเฉพาะกับคุณพ่อแม่ที่ต้องตามป้อน เนื่องจากเด็กไม่รู้สึกสนุกกับการทานอาหารแบบนี้ รู้สึกเหมือนถูกบังคับ ส่งผลทำให้บรรยากาศภายในบ้านไม่มีความสุขไปด้วย
2. คุณพ่อคุณแม่บางคนน้ำหนักลด เพราะไม่ค่อยได้ทานข้าว มัวแต่เอาเวลาไปตามป้อนลูก
3. เมื่อให้อาหารบดละเอียดจนเคยชิน พอเปลี่ยนเป็นอาหารหยาบ เด็กบางคนจะเปลี่ยนค่อนข้างยากและไม่ยอมกิน

ดังนั้นจึงมีคนพยายามหาวิธีที่ เด็กสนุกกับการกินได้เอง เด็กได้เลือกทานอาหารหรือสิ่งที่ตัวเองชอบ พ่อแม่ไม่ต้องตามป้อน มีบรรยากาศที่ดีในการทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาร่วมกัน ฝึกทานอาหารเป็นเวลา และที่สำคัญเป็นการข้ามอาหารบดละเอียด มาเป็นอาหารปกติได้ วิธีนั้นก็คือ Baby-led weaning 

Baby-led weaning คือการให้เด็กอายุประมาณ 6 เดือนเริ่มรับประทานอาหารปกติด้วยตัวเอง เช่น แครอทนึ่ง กล้วย บล็อคโคลี่ต้มนิ่ม ไข่เจียวหั่นชิ้นให้พอจับถนัดมือ ช่วงนี้อาจจะอุ้มให้เด็กนั่งตักแล้วให้เด็กได้ทดลอง หยิบ จับ ซึ่งช่วงแรกเองเด็กอาจจะยังไม่ได้จับเข้าปากได้เลย เด็กอาจจะเอามาบี้ มาดม มาอม มาดูด ที่คุณแม่จะรู้สึกได้อย่างแรกคือ เด็กรู้สึกสนุกกับการได้เล่น ได้ทำอะไรด้วยตนเอง

อาจจะใช้เวลาสักหน่อย หลังจากนั้นเด็กก็จะใช้เหงือกในการบดขยี้อาหารนั้นได้ [อย่าดูถูกเหงือกของคุณลูกนะครับ] เมื่อเด็กเริ่มนั่งได้เอง ให้เด็กนั่งเก้าอี้สูงที่มีผนักพิงสำหรับเด็กและมีโต๊ะที่เป็นถาด [High chair] แล้วให้เด็กกินอาหารไปพร้อม ๆ กับพ่อแม่ ทำให้เด็กได้ทั้งสนุกที่ได้หยิบจับดูดอมเอง พ่อแม่เองก็ได้พักทานอาหาร มีบรรยากาศในครอบครัวที่ดี นอกจากนั้นแล้วเด็กยังได้ฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ มองกะระยะและเอื้อมจับ กะประมาณแรงในการจับอาหารแต่ละประเภท

แต่สิ่งที่พ่อแม่จะต้องทำใจยอมรับคือ
1.การเริ่มอะไรใหม่ ๆ ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ช่วงแรกเองเด็กอาจจะไม่กิน แต่จะเล่นกับอาหารมากกว่า อาจใช้เวลา1-2 สัปดาห์กว่าจะเริ่มเอาเข้าไป ขึ้นกับความยากง่ายของเด็กแต่ละคน
2.เลอะเทอะ แน่นอนว่ามันจะต้องหล่นพื้น กระจัดกระจาย แต่เชื่อเถอะว่า "ยิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์"
3.ระหว่างการกิน พ่อแม่จะต้องอยู่กับลูกตลอด เนื่องจากมีโอกาสที่ขย้อนอาหารออกมาได้ [Gag] แต่ถึงอย่างนั้น การตามป้อนลูกก็ต้องอยู่กับลูกตลอดเช่นกัน
4.พ่อแม่หลายคนกังวลเรื่องการสำลัก ซึ่งจริง ๆ การสำลัก[Choking] ต่อให้เป็นการป้อน แม้กระทั่งการดูดนม ก็มีโอกาสทำให้เกิดการสำลักได้เช่นกัน ดังนั้นในทุกกรณีของการทานอาหารในเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องอยู่ดูแลใกล้ชิด

ทั้งนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า ขย้อนและสำลัก
การให้ Baby-led weaning เนื่องจากอาหารเป็นชิ้น ๆ บางครั้งกัดคำใหญ่ไป เคี้ยวไม่ดีพอ พอกลืนไม่ลง เด็กก็จะไอจนหน้าแดงและขย้อนออกมา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อย แต่นั่นไม่ใช่การสำลัก เพราะการสำลัก คือการที่เศษอาหารลงไปในหลอดลม พวกนี้เด็กจะหายใจเฮือก เหนื่อย และตัวเขียว ซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะท่าทางตอนกินมากกว่า

ลืมบอกอีกประโยชน์ของ Baby-led weaning อีกอย่างที่ได้มาจากการเล่าของบรรดาแม่ ๆ คือ
แม่ได้สนุกกับการทำอาหาร ปรับเปลี่ยนอาหาร มีเวลาแอบมองเห็นความสุขของลูก ได้สังเกตุของโปรดของลูก ^^

ขอบคุณรูปภาพจาก https://en.brilio.net/babies/baby-led-weaning-when-you-let-babies-feeding-themselves-170821r.html#

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

LDL-C = Total Cholesterol - HDL-C - TG/5 ถูกต้องหรือไม่ ?