Social Skill


มนุษย์คือสัตว์สังคม เป็นสำนวนฮิตติดปากพวกเรามานาน ดังนั้นทักษะการเข้าสังคมของมนุษย์เรามันเหมือนอยู่ในสายเลือด ไม่ต้องฝึก เราก็สามารถเข้าร่วมสังคม มีเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัวได้



แต่ในทางปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งการตรวจผู้ป่วยกุมารในปัจจุบัน ผู้เขียนเองกลับพบว่า เด็กไทยยุคใหม่ มีปัญหาทักษะการเข้าสังคม ไม่นับรวมกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติด้านพฤติกรรม อารมณ์ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เด็กปกติทั่วไปบางคนก็ยังคงมีปัญหาการเข้าสังคมได้ ปัญหาที่พบได้มีดังนี้


1.       Social motivation การขาดแรงจูงใจในการมีเพื่อน เด็กบางคนไม่มีเพื่อน หรือมีเพื่อนน้อยและไม่สนิท คุณพ่อคุณแม่เองอาจต้องพูดคุยกับเด็ก ถามความคิดเหตุผล เด็กอาจคิดว่าอยู่คนเดียวสบายใจกว่า ไม่อึดอัด ไม่ต้องแบ่งของเล่นกับใคร

วิธีแก้ : เราอาจจะชวนให้เด็กคิดใหม่ว่า การมีเพื่อนดีกว่าการไม่มีเพื่อนยังไงนะ เช่น เวลาเรามีปัญหาที่โรงเรียนก็จะมีคนช่วย, มีคนนั่งกินข้าวด้วยกัน, มีคนเล่นด้วยกัน, บาครั้งเพื่อนอาจแบ่งขนมให้เรากินด้วย หรือเวลาทำงานกลุ่ม เราก็จะได้ไม่เป็นตัวเหลือ [ในกระบวนการเราอาจจะชวนเด็กคิด วาดเป็นตารางหรือเป็นรูปภาพ เทียบกันระหว่างข้อดีข้อเสียของการมีเพื่อนและไม่มีเพื่อน โดยกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิด ซึ่งถ้าตัวเด็กเองคิดให้เหตุผล เมื่อทำเป็นตารางเปรียบเทียบอย่างชัดเจน ตัวเด็กก็จะเชื่อ และยอมปรับเปลี่ยนความคิดตาม]


2.       Social awareness เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องการรับรู้ หรือ ไม่เข้าใจสถานการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น ส่งผลทำให้การสร้างปฏิสัมพันธ์มีปัญหา เช่น เพื่อนกำลังเสียใจ แต่เด็กชวนพูดคุยเรื่องตลก [เด็กมีปัญหาเรื่องการแปลภาษากาย สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง], ชวนเพื่อนพูดคุยในโรงหนังหรือห้องสมุดเสียงดัง [ไม่เข้าใจสถานการณ์ ไม่สังเกตุว่าคนรอบตัวขณะนั้นปฏิบัติอย่างไร]

วิธีแก้ : พ่อแม่ อาจชวนให้เด็กเล่นทำใบหน้าในอารมณ์ต่าง ๆ พ่อแม่จะทำหน้าตาอารมณ์ที่แตกต่างกัน ให้เด็กตอบ แล้วชวนให้เด็กทำตาม หรือ วาดรูปใบหน้าในอารมณ์ต่าง ๆ, พ่อแม่แสดงภาษากาย พูดใช้น้ำเสียง แล้วให้เด็กตอบว่าอารมณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร, การสอนเด็กเรื่องการประพฤติตัวในสถานที่แต่ละแห่ง


3.       Social cognition การตีความ และการเข้าใจสถานการณ์ เรื่องหรือเหตุการณ์เดียวกัน เรากับเพื่อนอาจมองกันคนละมุม ดังนั้นเด็กจำเป็นจะต้องเข้าใจมุมมองของคนที่อยู่รอบข้างด้วย [Perspective taking] เพราะถ้าเราตีความผิด อาจก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบกับตัวเด็กเอง เช่น ขณะที่เด็กกำลังกินขนม เพื่อนเข้ามาทักจากทางด้านหลังโดยการตีเบา ๆ ที่หลัง ทำให้ขนมหลุดออกจากมือ ถ้าเด็กยังไม่มองในมุมมองของเพื่อน เด็กอาจเข้าใจว่าเพื่อนแกล้ง ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรม ทำร้ายเพื่อน หรือไปตะโกนด่าเพื่อน เกิดความสัมพันธ์แย่ลง อาจถึงขั้นเลิกคบกัน

วิธีแก้ : เมื่อพ่อแม่ทราบข้อมูลนี้ ต้องย้อนกลับไปถามถึงความคิดของเด็ก ว่าทำไมตอนนั้นถึงมีอารมณ์โกรธ เมื่อเด็กตอบเหตุผล ต้องชวนให้เด็กคิดว่าใช่เจตนาของเพื่อนจริงหรือไม่ คิดเป็นแบบอื่นได้ไหม แล้วชวนให้คิดต่อว่าเจตนาของเพื่อนแบบใดน่าจะเป็นไปได้มากกว่ากัน [พ่อแม่เป็นแค่คนช่วย แต่อย่าพยายามคิดแทนเด็ก


4.       Social communication เมื่อเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ รวมถึงความคิด มุมมองของผู้อื่นแล้ว เด็กก็จะต้องเริ่มต้นสื่อสารพูดคุย

4.1   Start การเริ่มต้นพูดคุย

4.1.1         สอนให้รู้จักสบตาหาคนที่อยากคุย

4.1.2         หาจุดที่เหมือนกัน แน่นอนคนเราต้องมีเรื่องที่สนใจแตกต่างกัน แต่ถ้าเราอยากเริ่มคุย ต้องมองหาจุดที่สนใจร่วมกัน เช่น ชอบเล่นฟุตเหมือนกัน มีของเล่นแบบเดียวกัน เพราะถ้าเรามัวแต่พูดเรื่องที่เราสนใจเพียงอย่างเดียว เพื่อนก็ไม่อยากคุยด้วย

4.2   Maintain พูดคุยอย่างต่อเนื่อง เราต้องทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี มองสบตา พยักหน้าแสดงว่ากำลังฟังเป็นระยะ ตอบให้ตรงในสิ่งที่เพื่อนพูด มีถามเพื่อนกลับบ้าน แต่อย่ามัวแต่ถามอย่างเดียว โดยไม่ฟังในสิ่งที่เพื่อนพูด

4.3   End จบการพูดคุย

4.3.1         เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะออกจากวงพูดคุย แสดงท่าทางเช่น ขยับตัว เก็บของ ดูนาฬิกา

4.3.2         ถ้าคนยังสนใจพูดคุยกันอยู่ เราต้องรอจังหวะให้มีการหยุดคุย แล้วบอกเหตุผลของการออกไป

4.3.3         กล่าวคำลา แยกย้าย แล้วเจอกันใหม่

ถ้าผู้อ่านท่านใด ยังไม่รู้ว่าจะสร้างวิธีการสอนอย่างไร หรือ มีแบบฝึกหัดใดให้ลูกทำ --> มีหนังสือดี ๆ ชื่อ Social skill หรือ สังคม...ศึกษา จะมีวิธีการฝึกเด็กที่มีปัญหาเรื่องของการเข้าสังคมในลักษณะต่าง ๆ กันไปครับ

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก Social Skill สังคม...ศึกษา
ขอบคุณรูปภาพจาก http://chandrarai.com/top-10-social-skills-to-succeed/


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

Sedation in Pediatrics