Love Language
"หนูบอกรักแม่ทุกวัน แต่แม่กลับไม่เคยบอกหนูว่ารักด้วยซ้ำ "
เคยมีใครรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม
ประเด็นนี้ มีคนหยิบยกและพูดกันบ่อยครั้ง เรื่องของภาษารัก โดยคนที่กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นคนแรกคือ นักจิตวิทยา Dr. Gary Chapman
ปัญหาของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ทั้งคนในครอบครัว คนรัก หรือ เพื่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ใช้ภาษารักแตกต่างกัน และ แต่ละคนไม่พยายามทำความเข้าใจภาษารักของอีกฝ่าย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกัน น้อยใจกัน เมื่อความรู้สึกพวกนี้สะสมมาก ๆ อาจจะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตได้
ดังนั้นในบทความนี้ ผมก็จะอธิบายให้เข้าใจภาษารัก ทั้ง 5 รูปแบบว่าเป็นอย่างไร แล้วเราพยายามลองสังเกตผู้รับความรักจากเราว่า จริง ๆ แล้ว พวกเขาใช้ภาษารักหรือต้องการภาษารักรูปแบบไหน
1. คำพูด [Word of affirmation, Appreciation]
ภาษารัก ที่พูดด้วยคำพูด เช่น การบอกรัก บอกเป็นห่วง บอกคิดถึง พูดชมเชย พูดให้กำลังใจ
จัดเป็นภาษารักที่ง่าย ตรงไป ตรงมา ไม่ต้องมีการเดาใจ
สิ่งสำคัญ คือ การพูดด้วยความจริงใจ เพราะผู้ฟังสามารถรับความรู้สึกได้ว่า เป็นสิ่งที่ออกมาจากใจจริง หรือ เป็นแค่คำหลอกลวง หรือแค่พูดเอาใจกัน
2. มีเวลาคุณภาพให้แก่กัน [Quality time]
การมีเวลาดี ๆ ร่วมกัน ทำกิจกรรมที่ชอบและสนใจร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเป็นกิจกรรมที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสนใจอย่างเดียว เพราะจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายไปด้วย เช่น บางคนชอบดูหนัง บางคนชอบไปร้านขนมหวาน บางคนชอบวิ่งออกกำลังกาย
สิ่งสำคัญ คือ เวลานี้ต้องเป็นเวลาคุณภาพร่วมกัน หลายครั้งมีการใช้มือถือ ก้มหน้าดูจอ บางคนหอบเอางานไปทำด้วย ไม่ค่อยมีบทสนทนา หรือปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ไปด้วย อาจทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกถึงความรักที่เรามอบให้จริง ๆ อีกประเด็นหนึ่ง คือการที่ฝ่ายหนึ่งต้องการใช้เวลาอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป อาจทำให้รู้สึกขาดอิสระ ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว อาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ได้ ดังนั้นต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา พอเหมาะพอดี ความสัมพันธ์นั้นจึงจะดียืนยาว
3. ของขวัญ [Gifts]
ของขวัญในวันสำคัญ การไปไหนแล้วมีของฝาก มอบดอกไม้ ให้ของโปรด ซึ่งบางครั้งมันไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของราคาแพง แต่ทำให้อีกฝ่ายรับรู้ว่า ยังคิดถึงกัน ยังนึกถึงกัน บางสิ่งของนั้น อาจมีค่าและมีความสำคัญตลอดชีวิตของผู้รับได้
สิ่งสำคัญ คือ คนหนึ่งคน ต้องการภาษารักไม่ใช่แบบเดียว อาจมีหลายแบบ ดังนั้น การให้ของขวัญ แต่ไม่มีเวลาให้ ซื้อมือถือให้ลูก แต่ไม่เคยช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกัน ไม่เคยบอกรักกัน อาจทำให้ผู้รับ รับความรักนั้นได้ไม่เต็มที่
4. การดูแล [Acts of Service]
การไปรับไปส่ง การทำอาหารให้ทาน พาไปหาหมอเวลาไม่สบาย
สิ่งสำคัญ คือ ผู้รับบางคนอาจรู้สึกอึดอัดเมื่อได้รับการดูแล หรือบริการในทุกเรื่อง ดังนั้นการมอบการดูแลอย่างพอเหมาะ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า
5. การสัมผัสทางกาย [Physical touch]
การจับมือ การโอบกอด การหอมแก้ม การตบไหล่ เป็นการบอกรักด้วยภาษาร่างกาย
สิ่งสำคัญ คือ ความพอดีอีกเช่นกัน เพราะผู้รับบางคนอาจรู้สึกอึดอัด รู้สึกเหมือนถูกนัวเนียตลอดเวลา
ดังนั้นสิ่งสำคัญมาก ๆ ต่อการประคับประคองความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ คือ การเข้าใจภาษารักซึ่งกันและกัน และมอบภาษารักที่อีกฝ่ายต้องการอย่างพอดี ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ละคนอาจมีความต้องการภาษารักหลายแบบได้
เมื่อย้อนกลับไปดูตัวอย่าง
"ผมรักลูกมาก ผมกอดลูกทุกเช้า แต่รู้สึกว่าลูกไม่รักเรา ไม่กอดเรากลับ แถมยังทำท่าผลักออก"
เป็นความน้อยใจของคุณพ่อที่มีต่อลูก เพราะพ่อเองแสดงความรักแบบ Physical touch และก็ต้องการการแสดงความรักแบบ Physical touch จากลูกด้วย
แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เวลาพ่อกลับจากทำงาน ลูกนำน้ำเย็นมาให้พ่อดื่ม ตั้งใจเรียนให้พ่อสบายใจ ถ้าพ่อเข้าใจถึงภาษารักของลูกที่เป็นแบบ Acts of Service ก็จะไม่เกิดความน้อยใจ และอาจจะต้องปรับลด Physical touch ของตัวเองด้วย เพราะลูกเองดูเหมือนไม่ชอบการแสดงความรักแบบนี้สักเท่าไหร่ คุณพ่ออาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นการให้คำชม [Word of affirmation] ถ้าลูกยิ้ม มีความสุข แสดงว่าเราก็พอจะรู้แล้วว่า ลูกต้องการให้แสดงความรักแบบไหน
"หนูบอกรักแม่ทุกวัน แต่แม่กลับไม่เคยบอกหนูว่ารักด้วยซ้ำ "
ประโยคนี้เป็นของลูก ที่แสดงความรักแบบ Word of affirmation และต้องการกลับในแบบเดียวกัน แต่ตัวแม่เองอาจจะรู้สึกเขินอายกับการบอกรักลูก แต่แม่ทำกับข้าวของโปรดให้ลูกทาน ซื้อของขวัญที่ลูกอยากได้เมื่อถึงเวลาสำคัญ [Acts of Service + Gifts] ดังนั้น เดินกันคนละครึ่งทาง ลูกเข้าใจภาษารักของแม่ รับรู้ความรู้สึกรักจากแม่ ส่วนแม่ก็ต้องมอบภาษารักที่ลูกต้องการอย่างเหมาะสมบ้าง เพียงแค่นี้ก็ทำให้ความสัมพันธ์ภายในบ้านดีขึ้นได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น