มาช่วยคุณผู้หญิงเลือกซื้อครีมกันแดดกัน : )

วันนี้ขอเขียนเรื่องเอาใจสาว ๆ กันหน่อยนะครับ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงเคยทาครีมกันแดด คุณเลือกครีมกันแดดอย่างไร แน่นอน คำตอบแรกของพวกคุณ คือ " ก็ดูค่า SPF ซิย่ะ " แต่เมื่อผมถามต่อว่า แล้วรู้อ่ะป่าวว่า SPF คืออะไร พวกคุณก็ตอบกลับมาว่า " ก็ค่าป้องกันรังสียูวีไง ( พร้อมทำหน้าว่า จำเป็นต้องรู้ละเอียดด้วยหรอ ? ) " 

จริง ๆ พวกคุณไม่ต้องรู้ละเอียดมากก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าเรารู้พื้นฐานไว้บ้าง เวลาเลือกซื้อครีมกันแดด เราจะได้ซื้อครีมที่มีคุณสมบัติครบตามที่เราต้องการ วันนี้ผู้เขียนเลยจะพาผู้อ่านมาshopping Sunscreen กันครับ ^^

อย่างแรก เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ารังสีที่มาจากดวงอาทิตย์มีหลายรังสี แต่บางส่วนไดัถูกชั้นบรรยากาศหรือ Ozone กันออกไปบ้างบางส่วน เหลือเพียงส่วนน้อยที่ส่งลงมาที่ผิวโลก โดยรังสีที่เราพูดถึงมากที่สุดคือ รังสี Ultraviolet ซึ่งหลุดลงมาสู่พื้นโลก เพียงแค่ร้อยละ 2-3 ของรังสีที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ แต่เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อผิวของคนเราได้แล้วครับ

โดยที่ UV ray ที่ตกกระทบสู่ผิวโลกมี 2 ชนิดคือ UVA(95%)& UVB(5%) ถึงแม้ว่าตัวUVB จะแผ่ลงมาน้อยกว่า แต่มีอันตรายมากกว่า UVA มาก แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองรังสี ก็สร้างปัญหาให้กับเราหลายอย่าง เช่น ถ้าถูกแสงแดดจัด ๆ ผิวก็จะแดง ผิวไหม้ แต่ถ้าสัมผัสกันไปนาน ๆ ก็จะมีผลเรื่องของริ้วรอยบนใบหน้า ฝ้า กระ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อกันเป็นโรคมะเร็งที่ผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็น Squamous cell carcinoma , Basal cell carcinoma , Malignant melanoma 

เห็นไหมหล่ะครับว่ารุ่นแรงมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันแสงแดดที่ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว การใส่หมวก หรือกางร่ม แล้ว เราอาจต้องใช้ Sunscreen เป็นตัวช่วยด้วย เรามาเลือกsuncreen ที่เหมาะสม และที่คิดว่าใช่กัน

1.ชนิดของครีมกันแดด
ก่อนอื่นเรามาแยกก่อนว่า ครีมกันแดด มีอยู่ 2 ชนิดหลัก คือ Physical และ Chemical
1.1.Physical sunscreen : ครีมกันแดดที่ใช้วิธีฉาบผิวหนัง พร้อมกับสะท้อนแสงรังสีทันทีที่รังสีตกกระทบ สะท้อนทั้งรังสี UVA ,UVB และ visible light บางส่วน ทาแล้วสมารถออกแดดได้เลย ซึ่งจะมีส่วนประกอบเป็น titanium กับ Zn
1.2.Chemical sunscreen : ครีมกันแดดที่ใช้หลักการการดูดซับรังสี พร้อมกับปล่อยออกในรูปแบบของความร้อน ซึ่งสามารดูดซับได้เฉพาะ UVA และ UVB เท่านั้น แต่ต้องทาทิ้งไว้ก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที เพื่อต้องรอให้ออกฤทธิ์



เมื่อเราเลือกชนิดได้แล้วว่าจะเลือกแบบไหน เราก็ต้องมาดูประสิทธิภาพของครีมกันแดดว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV ได้ในระดับไหน 

2.ประสิทธิภาพของครีมกันแดด
ถ้าเราจะดูประสิทธิภาพของการป้องกันรังสี UV ( Efficacy ) ซึ่งแน่นอนว่าครีมกันแดด 1 ตัว จะต้องป้องกันได้ทั้ง UVA & UVB ครีมแต่ละชนิดก็จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีแต่ละขนิดไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นจึงมีค่าวัดประสิทธิภาพการป้องกันรังสีทั้ง 2 ตัว คือ

2.1.UVB protection factor วัดความสามารถในการป้องกันรังสี UVB โดยใช้ SPF ( Sunburn Protection Factor ) ซึ่งค่านี้ เป็นค่าการเปรียบเทียบระหว่าง ผิวที่ทาครีมกันแดดแล้วใช้ระยะเวลากว่าผิวจะเริ่ม Burn กี่นาที เทียบกับการที่ผิวไม่ได้ทาอะไรเลย เช่น ถ้าคนคนหนึ่ง ผิวได้รับแสงแดด ( โดยที่ยังไม่ได้ทาครีมกันแดด ) พบว่าจะเริ่ม burn 10 นาที แต่เมื่อได้ทาครีมกันแดดแล้ว กว่าจะเริ่ม burn เมื่อเวลาผ่านไป 80 นาที นั่นแสดงว่าครีมกันแดดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีUVB ( SPF = 80/10 =8 )

* เมื่อคุยกันมาถึงตรงนี้ ทุกคนก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า งั้นคงต้องเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ๆ แต่ช้าก่อนครับ มีงานวิจัยพบว่า SPF ที่มากกว่า 30 ขึ้นไปมี % UVB transmission ไม่ต่างกันมากแล้ว ดังนั้นปัจจุบัน เราจึงไม่เห็นครีมกันแดดที่ระบุค่า SPF เกินร้อยแล้ว เพราะถ้ายิ่งมากกว่า 50 ประสิทธิภาพในการป้องกันยิ่งไม่แตกต่างกันเลย เห็นกันมากสุดก็คงจะระบุแค่ 50+

2.2.UVA protection factor จริง ๆ ครีมทุกตัวจะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA ได้อยู่แล้ว แต่เรื่องของการวัดค่าประสิทธิภาพในการป้องกัน มีวิธีวัดหลายแบบ แต่ไม่มีวิธีใดที่นิยมใช้กันอย่างสากล แต่โดยส่วนใหญ่ครีมกันแดดที่จะออกมาวางจำหน่ายได้นั้น ต้องผ่านมาตรฐาน COLIPA ซึ่งเป็นการวัดมาตรฐานครีมกันแดดของฝั่งยุโรป ซึ่งจะผ่านได้นั้น UVA  protection factorเมื่อเทียบกับ SPF จะต้องมีค่ามากกว่า หรือเท่ากับ 1/3 

** แต่มีหน่วยวัด UVA protection factor ที่นิยมใช้กันในประเทศไทยคือ PA ซึ่งเป็นหน่วยวัดของญี่ปุ่น โดยแยกระดับไว้ดังนี้
PA+ : 2<UVA-PF<4
PA++ : 4<UVA-PF<8
PA+++ : UVA-PF > 8

เมื่อเราทราบชนิดของครีมกันแดด รวมถึง Efficacy ในการป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB แล้ว สิ่งที่เราควรจะต้องพิจารณาต่อคือ Water resistant

3.ความสามารถในการทนต่อน้ำ
ในกรณีที่เราจะไปเที่ยวทะเล สิ่งที่เราต้องคำนึงอีก คือครีมกันแดดนั้นจะต้องทนน้ำด้วย ซึ่งปัจจุบันจะมี2แบบ คือ 

3.1 Water resistant เป็นการวัดโดยการทาครีมกันแดด แล้วลงน้ำ 20 นาที สลับกับการขึ้นมาพัก 20 นาที (ลงน้ำ 2 ครั้ง รวม 40 นาที ) เมื่อกลับมาวัดค่า SPF ยังคงเท่าเดิม

3.2 Very Water resistant วัดคล้ายกันแต่รวมเวลาลงน้ำทั้งหมด 4 ครั้ง ใช้เวลาในน้ำ 80 นาที เมื่อกลับมาวัดซ้ำค่า SPF ยังคงเท่าเดิม

*** แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่า เราทาแบบกันน้ำแล้วจะไม่ต้องทาซ้ำ เพราะ ถ้าลงทะเล มันจะต้องมีคลื่นที่จะมาชะล้างครีมออกจากผิวได้ จึงนิยมแนะนำให้ทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง

**** ไม่แนะนำทาครีมกันแดดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนครับ

มีอีกหนึ่งคำถามที่มักได้ยินคนบ่นกัน ถึงเรื่องการซื้อครีมกันแดดที่มี ค่า SPF สูง ๆ มาทา แต่ก็ยังมีปัญหาผิวไหม้ สิ่งที่เราต้องกลับมาตั้งคำถามตัวเองคือ " เราทาครีมกันแดดในปริมาณที่พอเหมาะหรือไม่ " ถ้าเราทาอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะต้องทา 2mg/cm^2 ถ้าคิดไม่ออก ลองเอาครีมกันแดดมาทาจนหน้าของเราวอกลอย นั่นแหล่ะ. ถึงจะเรียกว่าการทาอย่างเหมาะสม ( เพราะฉะนั้นจึงมีบางคนที่ชอบ Chemical sunscreen มากกว่า Physical คือทาแล้วหน้าไม่วอกมากครับ ) 

ลองปรับกันดูนะครับ เพราะถ้าเราไม่อยากทาจนหน้าวอก ลอยออกมา ก็แนะนำเลือกเป็น SPF ที่สูงกว่าเดิมก็ได้ครับ 

หวังว่าต่อไปผู้อ่านคงสามารถเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับตัวคุณได้เองแล้วนะครับ 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

Sedation in Pediatrics