ROP โรคทางตา ถ้าคุณแม่เข้าใจโรค มันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ^^

สวัสดีครับ วันนี้กลับมาเจอกันอีกครั้งนะครับ ช่วงนี้สถานการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนระอุ ใครที่จะต้องไปชุมนุมประท้วงที่ไหน ฝ่ายอะไร ขอให้ระมัดระวังตนเองด้วย ผมทราบดีและเข้าใจทุก ๆ ฝ่ายและทุก ๆ คน ถามว่าผมอยู่ข้างไหน ฝักใฝ่ฝ่ายไหน ผมตอบไม่ได้ แต่ผมตอบแบบเต็มตามเต็มคำ ว่าผมรักในหลวงครับ ( เข้าใจตรงกันนะครับ )

เรื่องต่อจากครั้งก่อน หลานทั้งสองคนหลังลืมตาดูโลกก่อนกำหนด เนื่องจากปัญหา discordant ที่กล่าวไปครั้งก่อน คุณหมอหลายท่านคงทราบกันดีครับ เด็กที่เกิดก่อนกำหนด มักจะมีปัญหาหลายด้าน ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเจริญเติบโตที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ภายในครรภ์ หนึ่งในนั้นก็คือปัญหาที่เกี่ยวกับตา ใช่แล้วครับ ปัญหาที่หลานทั้ง 2 คนของผมเผชิญอยู่ คือ ROP
( Retinopathy of Prematurity )

เรื่องนี้สร้างความไม่สบายใจให้พี่สาวผมเป็นอย่างมาก แต่เราก็คงทำได้เพียงแค่ให้กำลังใจ คนที่จะเป็นแม่คนได้ ต้องมีความเข้มแข็ง เพราะในอนาคต คุณต้องแหล่งยึดเหนี่ยวให้กับลูก ๆ คุณต้องตั้งสติ ปัญหาที่มันเกิดขึ้น เราสามารถแก้ไขได้ เดี๋ยวนี้การรักษาตา พัฒนาไปมาก โอกาสที่จะรักษาแล้วให้ผลดีมีสูง เพราะฉะนั้นคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่เจอเหตุการณืแบบนี้ ต้องตั้งสติ และมาเรียนรู้ตัวโรคนี้ไปพร้อมกันครับ

ปกติจอประสาทตา ( retina ) ของเด็กทารกที่อยู่ในครรภ์ จะมีการสร้างเส้นเลือดขึ้นมาเลี้ยงตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ โดยเริ่มสร้างจากขั้วตา ( Optic disc ) และเส้นเลือดจะถูกสร้างไปจนถึงขอบด้านจมูก ( nasal ora serrata ) เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ และสร้างจนครบถึงขอบด้านขมับ ( Temporal ora serrata ) เมื่ออายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์ ดังนั้น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด เส้นเลือดที่ retina จึงยังไม่ครบสมบูรณ์ 

ก็จะมีคำถามสงสัยอีกว่า แล้วเส้นเลือดที่retina จะยังเจริญต่อได้ไหม คำตอบคือ ได้ครับ แต่ปัญหาที่ตามมาของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือแม้น้ำหนักตัวน้อย คือ มักจะมีการให้ ออกซิเจน ขนาดที่สูง และ ให้เป็นเวลานาน ปัญหาจะเริ่มเกิดตอนนี้แหล่ะครับ เพราะการที่ให้ออกซิเจนขนาดสูง ๆ จะกระตุ้นให้เส้นเลือดที่เจริญเติบโตไม่เต็มที่ หดตัว และ ตีบแคบลง เมื่อการหายใจของเด็กดีขึ้น และได้ออกมาอยู่ในบริเวณอากาศปกติ ซึ่งมีระดับออกซิเจนต่ำลงจากที่เคยได้ ส่งผลทำให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ ( hpoxia ) ซึ่งจะกระตุ้นให้ retina ส่วนที่ขาดเลือดไปเลี้ยง มีการสร้างcytokine ชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า Vascular endothelium growth factor
 ( VEGF ) ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ ที่เราเรียกว่า Neovascularization ซึ่งความน่ากลัวคือ เส้นเลือดที่ถูกสร้างใหม่นี้ มันสามารถงอกเข้าไปใน วุ้นลูกตา หรือที่เราเรียกว่า  Vitreous ถ้าเส้นเลือดงอกเข้าไปในวุ้นลูกตา จะทำให้มีการดึงรั้งจนจอประสาทตาลอก และมีปัญหาเรื่องการมองเห็นในที่สุด

แน่นอนว่าเมื่อทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก ๆ น้อยกว่า 1500 gm หรือคลอดก่อนกำหนด แพทย์จักษุก็จะทำการตรวจตาเด็ก 
หลังคลอด 4-6 สัปดาห์ หรือนับต่อจากอายุครรภ์ 31-33 สัปดาห์ ( เลือกเอาวันที่ช้าที่สุด ) 

สิ่งหนึ่งที่แพทย์แบ่ง คือ Zone ของตาที่เส้นเลือดที่ retina มาเลี้ยงเจริญเติบโตเต็มที่ถึงบริเวณไหน ดังภาพ 


วงกลมสีขาว คือ Optic disc หรือขั้วประสาทตา ซึ่งเส้นเลือดจะเริ่มออกจากตรงจุดนี้ 
โดยถ้าเป็น Zone 1 แสดงว่ามีการเจริญเติบโตที่ปกติ สุดแค่นี้ ซึ่งดูไม่ค่อยดี แต่ต้องติดตามต่อเนื่องต่อไป ว่าจะโตต่อไปได้อย่างปกติ หรือเจริญต่อไปแบบผิดปกติ

นอกจากตำแหน่งแล้ว แพทย์ต้องแบ่งระดับความรุนแรงด้วย คือ Stage

Stage 1 เห็นเส้นแบ่งระหว่างบริเวณเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปกติ กับ บริเวณที่ขาดเส้นเลือดไปเลี้ยง ( Demarcation line )


Stage 2 เริ่มมี Neovascularization เห็นเป็นขอบนูน หรือ Ridge ขึ้นมาระหว่างบริเวณที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยง กับบริเวณที่ขาดเลือด


Stage 3 เส้นเลือดที่สร้างใหม่อย่างผิดปกติจะงอกเข้าไปในวุ้นตา ( Vitreous ) ที่เราเรียกว่า Extraretinal proliferation 



Stage 4 ระยะนี้เริ่มจะไม่ค่อยดี และการทำการรักษาก็จะยากขึ้นด้วย คือเส้นเลือดที่จอกเข้าไปในวุ้นตา เริ่มทำการดึงจอประสาทตาให้หลุดลอกบางส่วน ซึ่งจะแบ่งเป็น 4A ( ลอกยังไม่ถึงจุดกลางลูกตา หรือ Macula ) , 4B ( ลอกถึงจุด Macula ) 



Stage 5 คือจอประสาทตาลอกหมด ( total retinal detachment ) แย่สุด ทำให้ตาบอดสนิทได้ 


ส่วน Plus disease เป็นลักษณะของเส้นเลือดบริเวณส่วนหลังของจอประสาทตาขยายตัวและคดงอ ซึ่งแสดงถึงภาวะที่มีโอกาสเกิด detactment หรือการลอกของจอประสาทตานั่นเอง



เมื่อเราทราบว่าผู้ป่วยรายนี้ ROP Stage อะไร อยู่ Zone ไหน ความถี่ในการตรวจติดตามจะไม่เท่ากัน แต่เมื่อใดก็ตามที่ตรวจติดตามแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีลักษณะของ Threshold disease คือ
1. Zone 1 ที่มี ROP stage 1 ร่วมกับ 1 plus or 2 plus  หรือ stage 3 จะมีหรือไม่มี plus ก็ตาม
2. Zone 2 ที่มี ROP stage 3 ร่วมกับ plus ที่ติดต่อกันมากกว่าหรือเท่ากับ 5 Clock hours หรือรวมกันมากกว่า 8 Clock hours ที่ไม่ติดกัน

เมื่อเราสามารถระบุได้ว่าเข้าสู่ Threshold disease จำเป็นจะต้องให้การรักษา เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะ Progress เป็น Retinal detactment( จอประสาทตาลอก ) ได้ โดยการรักษาทำได้ทั้งการจี้เย็น Cryotherapy , การยิง laser photocoagulation ซึ่งทั้ง 2 วิธี มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ทำลายจอประสาทตาที่ขาดเลือด เพื่อลดการสร้าง VEGF ซึ่งจะลดการเกิด Neovascularization ด้วย  


ส่วนในกรณีที่เป็น stage 4-5 การรักษาต้องอาศัยการผ่าตัดเข้ามาช่วย เช่น
-Scleral Buckling เป็นการผ่าตัดรัดสายซิลิโคน เพื่อหนุนให้จอประสาทตาที่ลอก ติดดังเดิม รักษาในกรณีที่เป็น stage 4 

-Vitrectomy จะทำในกรณีเป็น Stage 5 เป็นการผ่าตัดวุ้นตาออกเพื่อลดแรงตึงในการดึงจอประสาทตา


แต่อย่างที่กล่าวมาทั้งหมด ROP ส่วนใหญ่ที่เรานัดตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ สามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องรับการรักษาประมาณ 80% ( stage 1-2-early 3 ) โดยเส้นเลือดที่ผิดปกติจะฝ่อยุบเองในช่วงอายุนับตั้งแต่ตั้งครรภ์ 38-44 สัปดาห์

เพราะฉะนั้น คุณแม่สบายใจได้ครับ แนวทางการรักษาค่อนข้างชัดเจน ถ้าคุณแม่เข้าใจตัวโรคและวิธีการรักษาจะไม่วิตกมากครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.kcn.ac.th/weblibrary/WEB/WebLibrary/Eye%20disease%20in%20infants.pdf

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Denver II Part 1

I message VS U message

LDL-C = Total Cholesterol - HDL-C - TG/5 ถูกต้องหรือไม่ ?